วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

งานจากห้องแลปสู่เทคโนโลยีไอทีอนาคต


เมื่อนักวิจัยของอินเทลเสนอแนวคิด และโครงการที่มุ่งเน้นความสำคัญของการผลักดันให้เกิดการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในทุกกลุ่มในอนาคต...

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น มีการงานนิทรรศการ Research Intel Day ที่จัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ณ เมืองเมาน์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นแนวคิด และนวัตกรรมแห่งอนาคตกว่า 40 โครงงาน ที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ อันได้แก่ เทคโนโลยีสำหรับสิ่งแวดล้อม อินเทอร์เน็ตแบบ 3D ระบบไอทีสำหรับองค์กร รวมทั้งเทคโนโลยีโมบิลิตี้แบบไร้สาย นอกจากนั้นอินเทลยังได้เปิดตัวเว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้สนใจทดลองใช้งาน (beta) โดยผู้ใช้งานลองเล่น “point, counterpoint” ได้ เพียงส่งข้อความที่พบบนระบบออนไลน์ เพื่อทดสอบความเท็จจริงของข้อความดังกล่าว 


นายจัสติน แรทเนอร์ (ซ้าย)

นอกจากนี้ผู้เข้าชมงานดังกล่าว ยังได้พบกับ 2 นักวิจัยคนเก่งที่ม่าวมงาน ได้แก่ นายอาเจย์ บัทท์ ที่เป็นผู้ร่วมคิดค้นประดิษฐ์ยูเอสบี ที่ได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน และ นายโจชัว สมิทธ์ ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีส่งผ่านพลังงานแบบไร้สายและหุ่นยนต์ ล่าสุดนักวิจัยทั้ง 2 คนนี้ ยังรับบทบาทเป็นตัวเอกให้กับโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า “Rock Star” ที่อยู่ภายใต้แคมเปญทางการตลาดล่าสุด ที่มีชื่อว่า “Sponsors of Tomorrow” ของอินเทลอีกด้วย

นายจัสติน แรทเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และผู้อำนวยการห้องทดลอง บริษัทอินเทล คอร์ปอเรชั่น  กล่าวว่า หวังว่าผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการทุกคน จะได้พบและพูดคุยกับร็อคสตาร์จากห้องทดลองของอินเทล โดยสิ่งที่เหล่านักวิจัยกำลังมุ่งมั่นพัฒนาในทุกวันนี้ ในที่สุดแล้วจะช่วยให้วิทยาการคอมพิวเตอร์และการสื่อสารในอนาคตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ง่ายดาย เปี่ยมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งให้ผลลัพธ์ที่สำคัญต่อชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของผู้คนในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ผอ.ห้องทดลองของอินเทล อธิบายถึงกำหนดการและลำดับของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จากการทำวิจัยภายในห้องทดลองของอินเทลในเร็วๆ นี้ว่า สิ่งที่เหล่านักวิจัยกำลังทำการค้นคว้าในขณะนี้ มีเป้าหมายคือการพัฒนาผลลัพธ์ที่จะเป็นไปได้ และปรับให้สอดคล้องกับแนวทางการเติบโตขององค์กรในด้านต่างๆ ของบริษัท เช่น โมบิลิตี้ การประมวลผลด้วยภาพ เทคโนโลยีการออกแบบแบบซิสเต็ม-ออน-ชิป (System-on-chip: SOC) ที่เป็นการนำเอาการทำงานด้านต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารมารวมไว้ในชิปเพียงตัวเดียว 



อินเทอร์เน็ต 3 มิติ
การพัฒนาภายในห้องทดลองของอินเทล จะทำให้ อุปกรณ์โมบายล์อินเทอร์เน็ต(Mobile Internet Devices หรือ MIDs) และสมาร์ทโฟนที่ใช้ อินเทล อะตอม โพรเซสเซอร์ นำเสนอเทคนิคใหม่ๆ ได้ในอนาคต เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาในนิทรรศการเดียวกันนี้ ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยที่มีชื่อว่า แพลตฟอร์ม พาวเวอร์ แมเนจเมนท์ หรือ PPM ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน ที่เป็นพื้นฐานของความสำเร็จของแพลตฟอร์ม “มอรส์ทาวน์” อันเป็นชื่อรหัสของสมาชิกใหม่ในตระกูลอินเทล อะตอม ที่มุ่งเน้นสำหรับรองรับการใช้งาน MID

ด้าน นายทิกกี้ ทักการ์ ผู้อำนวยการด้านสถาปัตยกรรมแพลตฟอร์มของกลุ่มอัลตร้าโมบิลิตี้ บ.อินเทล อธิบายถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ได้ช่วยให้ลดการใช้พลังงานในช่วงที่แพลตฟอร์มไม่มีการใช้งานได้มากถึง 50 เท่า เมื่อเทียบกับโพรเซสเซอร์อะตอมรุ่นขณะนี้ โดยผลที่ได้คืออายุการใช้งานของแบตเตอรีที่ยาวนานขึ้น โดยเทคนิคในการลดการใช้พลังงานนี้ โดยพื้นฐานแล้วเป็นที่มาของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีโพรเซสเซอร์ สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ มีบทบาทหลักในการลดการใช้พลังงานด้วยวิธีการใหม่ดังกล่าวนี้ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จะนำแนวทางการใช้พลังงานใหม่ๆ ที่ระบบ ปฏิบัติการกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน โดยใช้เวลาที่น้อยกว่ามาก และมีความละเอียดของถี่ถ้วนมากขึ้น




อุปกรณ์พกพา

ผอ.ด้านสถาปัตยกรรมแพลตฟอร์มของกลุ่มอัลตร้าโมบิลิตี้ บ.อินเทล อธิบายต่อว่า คอมพิวเตอร์จะลดการใช้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว และชาญฉลาดมากขึ้น หรือ แม้แต่การปรับเข้าสู่ภาวะใช้พลังงานต่ำของระบบ ในขณะที่ไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกับ Wireless radio หรือระบบย่อย input / output (I/O Subsystem) และกลับเข้าสู่ภาวะการใช้พลังงานปกติเมื่อต้องการใช้งาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การใช้งาน ซึ่งเทคโนโลยี PMP นี้อาจสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของอินเทลในอนาคต ตั้งแต่อุปกรณ์ MIDs ไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูงเลยก็เป็นได้


รายงานจากห้องวิจัยอินเทล ระบุว่า ในขณะที่มีการพัฒนาโพรเซสเซอร์ ให้มีจำนวนคอร์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ฝ่ายทีมวิจัยของอินเทลเชื่อว่า การเปลี่ยนเข้าสู่เทคโนโลยี การประมวลผลแบบคู่ขนาน (Parallel Computing) อย่างแท้จริง จะนำไปสู่ระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคต ที่มีการใช้ภาพกราฟฟิกแบบ 3 มิติเพิ่มมากขึ้น และใช้ตัวอักษรน้อยลง จะช่วยให้ผู้ใช้งานสัมผัสประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบสมจริงมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีแสดงผลด้วยภาพแบบ 3 มิติที่สมจริงเป็นพิเศษ และอินเตอร์เฟซที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ


ตัวอย่าง คือ หากลองนึกถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ผู้ใช้งาน หาข้อมูลเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว เช่น มหานครนิวยอร์ก ได้มากกว่าเดิม ก่อนที่จะไปถึงที่นั่นจริงๆ ดังนั้นนอกจากจะเดินทางไปรอบๆ ห้องพักในโรงแรมแบบเสมือนจริงได้แล้ว ผู้ใช้ยังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ย่านไทมส์สแควร์ โรงแรม และโรงภาพยนตร์บริเวณใกล้เคียง หรือแม้แต่ลองเดินไปยังเส้นทางแบบเสมือนจริง เพื่อให้ทราบระยะห่างจากโรงแรมได้อีกด้วย


รายงานจากห้องทดลองอินเทลระบุต่อว่า ในขั้นแรกอินเทลได้เริ่มสร้างแบบจำลองโลกในระบบอินเทอร์เน็ตแบบ 3 มิติที่เหมือนจริงก่อน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไซน์ซิม (ScienceSim) โดยในโลกจำลองดังกล่าวเป็นสถานที่ในโลกอินเทอร์เน็ตที่นักวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์การจำลองแบบเสมือนจริงในแบบออนไลน์ พร้อมทั้งทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยสมรรถภาพของระบบที่มีอยู่ แนวความคิดดังกล่าวนี้จะทำให้การวิจัยพัฒนาไปได้มากขึ้นด้วยการเทคโนโลยีการใช้ภาพในการแสดงผล ในลักษณะเดียวกับแบบจำลองของขอบชายฝั่งและกระแสน้ำ เพื่อศึกษาผลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์


รายงานจากห้องทดลองอินเทลระบุอีกว่า ขณะนี้ “เว็บไซต์” จัดว่ามีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ข่าวสารข้อมูล” มากขึ้น และแม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะมีประโยชน์ แต่อาจมีบางส่วนที่จัดว่าเป็นเท็จ สร้างความเข้าใจผิดหรือไม่เป็นกลางได้ Dispute Finder เป็นความพยายามในการทำวิจัยจากห้องทดลองของอินเทลที่ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ที่จะช่วยให้เหล่านักท่องอินเตอร์เน็ต กรองข้อมูลที่ขัดแย้งกันได้ง่ายดายยิ่งขึ้น โดยขณะที่ผู้ใช้งานกำลังอ่านบทความข่าวออนไลน์จาก บล็อก หรือ เว็บไซต์ ก็จะมีข้อความอธิบายแสดงขึ้นมาทันที


รายงานจากห้องทดลองอินเทลระบุด้วยว่า เทคโนโลยีนี้ออกมาเพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่า ระบบพบข้อมูลจากเว็บไซต์อื่น ที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับข้อมูลที่กำลังอ่านอยู่หรือไม่ โดยเมื่อผู้ใช้งานคลิกไปยังข้อความอธิบายที่ไฮไลท์ เช่น ข้อความว่า “การดื่มไวน์วันละแก้วจะดีต่อสุขภาพ” จะพบว่ามีกราฟข้อมูลของข้อโต้แย้ง ที่แสดงให้เห็นแหล่งที่มาของข้อมูลอีกด้านหนึ่ง โดยผู้ใช้งานเองจะเป็นผู้สร้างทุกๆ การกล่าวอ้างและหลักฐาน ในลักษณะเดียวกับการทำงานของ วิกิพีเดีย (Wikipedia) และได้รับการเก็บรักษาไว้ใน ฐานข้อมูลกลาง (central venue) แบบออนไลน์ที่ทุกคนร่วมกันสร้างได้


จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไป เพื่อนำไปสู้การใช้งานที่สะดวก และง่ายต่อการดำรงชีวิตในอนาคตมากขึ้น แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางเทคโนโลยีย่อมมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่จะเกิดขึ้นช้า หรือเร็วเท่านั้น สิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามคงต้องกลับมาคิดดูว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือไม่ หรือ มีการคิดต่อยอดไปนำไปสู่สังคมฐานความรู้มากน้อยเพียงใด แล้วในมุมมกลับกันประเทศไทยที่ต้องตื่นตัว และชอบตามกระแสเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้เตรียมพร้อมอะไรไว้บ้างเมื่อเวลานั้นมาถึง... 


ที่มา: บทความจาก ไทยรัฐ