วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นักกฎหมายชี้ 70% ไม่รู้จัก พรบ.คอมพ์




นักกฎหมายชำแหระ พรบ.คอมพิวเตอร์ 3 ปี คนไม่รู้ว่ามี 70% เหตุขาดการประชาสัมพันธ์-ปัญหาตีความการบังคับใช้กฎหมาย                                                                   


นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์ จำกัด กล่าวว่า หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กว่า 3 ปีพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีผู้รู้ว่ามี พรบ.ดังกล่าว ทั้งยังขาดมาตรฐานในการบังคับใช้


ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีผู้ไม่รู้ว่ามีกฎหมายดังกล่าวสูงถึง 70% ส่วนผู้ที่มีความรู้ระดับปานกลางราว 10% เข้าใจ 7% และเข้าใจระดับดีมาก 2-3% ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นศัพท์กฎหมายที่เข้าใจยากผนวกกับเป็นศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 


นอกจากนี้ยังเจ้าหน้าที่ผู้รู้กฎหมายน้อยมาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างแท้จริงราว 5 คน และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อีกเพียง 50 คน 


เขาระบุว่า ปัญหาสำคัญของ พรบ.ดังกล่าวคือ ยังขาดหน่วยงานกลาง หรือมาตรฐานทางจริยธรรม (Code of Conduct) ในการบังคับใช้กฎหมายทำให้การดำเนินคดีภายใต้กฎหมายดังกล่าวยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่จนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นการบล็อกเว็บ เนื่องจากในต่างประเทศการบล็อกเว็บส่วนใหญ่จะบล็อกทั้งเว็บไซต์ แล้วดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บ แต่ในไทยจะบล็อกเฉพาะหน้าเว็บเพจ


ขณะที่การบล็อกเว็บที่เข้าข่าย พรบ.ฉบับดังกล่าวยังต้องอยู่ในเกณฑ์ 4 ข้อคือ มีเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ, การพนัน และลามกอนาจาร


"พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นกฎหมายอาญาที่ยอมความไม่ได้ยกเว้นมาตรา16 ซึ่งปัญส่วนใหญ่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่ตัวกฎหมาย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เขียนไว้ดีแล้ว และได้ปรับแก้ไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะมาตรา 14 ซึ่งเป็นประเด็นการตัดต่อคลิป ที่กฎหมายระบุชัดเจนว่า จะเอาผิดกับคนที่ตัดต่อเท่านั้น ส่วนผู้นำไปเผยแพร่ เช่น การรายงานข่าว ไม่ถือเป็นความผิด" นายไพบูลย์กล่าว


พร้อมกับให้ความเห็นว่า ผู้ที่ร่างกฎหมาย หรือปรับแก้กฎหมายส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ที่ใช้กฎหมายด้วยตัวเองทำให้ขาดความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง และยังควรเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานเทคโนโลยีที่ควรจะเข้าไปมีบทบาทในการร่างกฎหมายดังกล่าว


นอกจากนี้เขายังเสนอแนะให้จัดตั้งแผนกเฉพาะสำหรับดูแลเรื่องความผิดเกี่ยวกับคดีเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความ, สำนักงานอัยการสูงสุด และศาล รวมถึงการบรรจุเป็นหลักสูตรบังคับการเรียนกฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือวิชาคอมพิวเตอร์สำหรับคณะนิติศาสตร์ เนื่องจากนักกฎหมายส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี


"ทางออกของปัญหา พรบ.คอมพ์ ตอนนี้คือ ควรอบรมผู้บังคับใช้กฎหมายแบบจริงๆจังๆ และควรต้องเป็นระดับคนใช้กฎหมาย ไม่ใช่แค่จัดบรรยายแล้วก็จบไปเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังควรประชาสัมพันธ์เรื่องของกฎ และการใช้งานให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐควรต้องจริงจังกับการใช้กฎหมายมากขึ้น" นายไพบูลย์กล่าว


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก.ไอซีที ศึกษาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ




            นายธานีรัตน์  ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้งานไบโอเมตริกในการบ่งบอกอัตลักษณ์บุคคล (Personal identification) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์และสำรวจการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกในการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า  แม้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะมีการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกประเภทต่างๆ ได้แก่ ลายนิ้วมือ ภาพใบหน้า ดีเอ็นเอ ม่านตา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชนในรูปแบบของบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อาทิ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart ID Card) การจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ระบบการผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Border Control) การตรวจสอบประวัติอาชญากร เป็นต้น แต่การใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกดังกล่าว ยังเป็นการใช้งานเฉพาะภายในหน่วยงาน หรือระหว่างหน่วยงานตามที่มีข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น โดยยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานกลางการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบูรณาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
           ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันให้มีการดำเนินการกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะดำเนินการศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกของประเทศไทย และดำเนินโครงการนำร่องโดยทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ก่อนขยายผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำหนดมาตรฐานกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมของประเทศ
          “วัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็เพื่อศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวโดยดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ตลอดจนเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานด้านไบโอเมตริกของประเทศไทย ซึ่งในปี 2554 กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาและจัดทำระบบทดสอบนำร่องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกข้ามหน่วยงานโดยใช้มาตรฐานด้านไบโอเมตริกสากล (ISO/IEC JTC1 SC37) เพื่อทำการกำหนดกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และร่างมาตรฐานกลางการใช้ข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว
           สำหรับการทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกนั้น ได้ดำเนินการร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมการกงสุล ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ทางเทคนิคแล้วมีความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้เห็นถึงโอกาสในการขยายรูปแบบการทำงานและการให้บริการฯ ให้กว้างขวางออกไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้างต้นยังพบอีกว่าการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จริงยังคงมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งกระทรวงฯ จะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ไขต่อไป



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT
ที่มา: ข่าวเทคโนโลยี ThaiPR.net -- พฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2554 15:17:59 น.

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สมาพันธ์วิจัยเปิดผลสำรวจ กฎหมายคอมพิวเตอร์ยังอ่อนการสื่อสาร กระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเผยแพร่ รับมือแท็บเล็ตป.1


กระตุ้นรัฐอุดช่องว่าง ก.ม.คอมพิวเตอร์




ผศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างการเสวนา “รู้เท่าทันกฎหมาย ชนะภัยโลกไซเบอร์” ว่า  จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คนในหลากพลายระดับอายุพบว่า   54% ไม่เข้าใจ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กฎหมายคอมพิวเตอร์ และระบุว่าอ่านแล้วปวดหัวมาก 


การวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้ เป็นแนวทางให้แก่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำพัฒนารูปแบบในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่กฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น โดยจากการสำรวจมีถึง 35% ไม่เคยได้ยินกฎหมายฉบับนี้ 36%  ทราบว่ามีกฎหมายแต่ไม่เคยอ่าน และ  22% เคยอ่านกฎหมายฉบับนี้แต่ไม่เข้าใจบางประเด็น 


ผลสำรวจยังชี้ว่า 51%  ทราบว่ากฎหมายฉบับนี้เปิดให้ร้องเรียนได้หากถูกกระทำบนโลกไซเบอร์ แต่ไม่รู้ช่องทางในการร้องเรียน 32% ของกลุ่มตัวอย่างจะอยู่เฉยๆ และไม่ดำเนินการอะไรเลย หากตกเป็นเหยื่อ  และ 55% ไม่เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถจัดการหรือเอาผิดกับผู้กระทำได้ 


ผศ.เสาวณีย์ กล่าวว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ต่อประชาชนในทุกช่องทาง ซึ่งไม่ส่งผลดีในอนาคตที่เด็ก ป..1จะได้รับแท็ปเลตฟรีทั่วประเทศ  ดังนั้น  จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้จุดอ่อนดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดีกว่ามาตามแก้ปัญหาในภายหลัง




ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.  ที่ผ่านมามีการร้องเรียนคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแล้ว 191  เรื่อง โดยเป็นส่วนที่ ปอท.รับผิดชอบ  70 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการโพสต์รูปภาพลามก หรือ การปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

พ.ต.อ.สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กล่าวว่า  ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงช่องโหว่ของกฎหมายนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถขอข้อมูลสำคัญ หรือ ยึดเซิรฟเวอร์ได้ในบางกรณีเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินการทำได้รวดเร็วมากขึ้น และ เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นจากเดิมที่จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 1 แสนบาท  ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับความผิดของผู้กระทำ


นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิป  กล่าวว่า ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ คือ ขาดการสื่อสารในวงกว้าง โดยจะเห็นชัดเจนว่าปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่รู้กฎหมายฉบับนี้เยอะมาก ซึ่งกฎหมายคอมพิวเตอร์ถือเป็นภาพใหม่ของการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและสร้างความสมดุลให้ชัดเจนระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกความเป็นจริงเพิ่มขึ้น  


ที่มา: http://www.posttoday.com

ศาลรับฟ้อง พสิษฐ์-เด็จพี่ ปมแฉคลิปฉาวคดียุบปชป




ศาลอาญาประทับรับคำฟ้องตุลาการศาล รธน. เป็นโจทก์ฟ้อง "พสิษฐ์ ศักดาณรงค์" และโฆษกพรรคเพื่อไทย ผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ กรณีแพร่คลิปฉาวคดียุบพรรค ปชป. บนอินเทอร์เน็ต...

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำ อ.3930/2553 ที่คดีนายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุก และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการส่วนตัวนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

กรณีวันที่ 29 พ.ย. 53 จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันกับพวกจัดทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญให้เสียหาย ระหว่างการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จำเลยที่ 3 นำไปเผยแพร่

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษา พร้อมนัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 ธ.ค.นี้.
 
ที่มา: http://www.thairath.co.th วันอังคาร ที่ 6 กรกฏาคม 2554

วินเนอร์-ปอท. ยึดเซิร์ฟเวอร์โปรแกรมช่วยเล่นเกม





"วินเนอร์" ประสานเจ้าหน้าที่ ปอท. เข้ายึดอุปกรณ์และเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เก็บไฟล์ข้อมูลโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ X-Shot ทนายเผยบริษัทฯ เสียหายกว่า 100 ล้านบาท ยืนยันดำเนินคดีถึงที่สุด ด้านรอง ผบก. ปอท. ชี้การจำหน่าย จ่าย แจกชุดคำสั่งดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 13 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเขียนชุดคำสั่งขึ้นเองอาจผิดมาตรา 5 , 7 , 9 มีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี
      
       วานนี้ (21 ก.ค.) บริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ จำกัด ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แถลงผลการเข้ายึดอุปกรณ์และเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เก็บไฟล์ข้อมูลโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ X-Shot
      
       นายคณาวุฒิ แสงกระจาย ทนายความผู้รับมอบอำนาจของบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการตรวจสอบพบการจำหน่าย จ่าย แจกโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ X-Shot ผ่านทางเว็บไซต์ www.o-radiook-o.blogspot.com จึงได้มีการดำเนินการล่อซื้อโปรแกรมช่วยเล่นดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจสอบและทดลองใช้งาน จนได้ทราบว่านายธีรพงษ์ ชัยโชติ เป็นผู้ที่จัดจำหน่ายชุดคำสั่งดังกล่าว จากนั้นจึงได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กับทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
      
       นายคณาวุฒิ ระบุว่า บริษัทฯ ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม พร้อมทั้งขอหมายค้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเข้าตรวจสอบอาคาร กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลชุดคำสั่งโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ X-Shot จนกระทั่งได้มีการยึดอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เก็บข้อมูลชุดคำสั่งดังกล่าวเอาไว้ได้
      
       นายคณาวุฒิ ระบุว่า โปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ X-Shot ได้สร้างความเสียหายให้กับบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ จำกัด เป็นอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ทางบริษัทฯ จึงขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดต่อผู้จำหน่าย จ่าย แจก ชุดคำสั่งโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ในเครือบริษัทฯ โดยในส่วนของขั้นตอนการตามตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการต่อไป
      
       พ.ต.อ.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ รอง ผบก. ปอท. ระบุว่า ในขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อตรวจสอบให้ทราบตัวผู้ดำเนินการและได้รับผลประโยชน์จากการจำหน่าย จ่าย แจกชุดคำสั่งโปรแกรมช่วยเล่นดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงาน
      
       พ.ต.อ.ชนะชัย ระบุว่า เวลาที่ใช้ในการดำเนินการขั้นตอนสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะนานเพียงใด ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของทางกองพิสูจน์หลักฐานว่าจะดำเนินการได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการให้ความร่วมมือของสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องว่าจะให้ข้อมูลของธุรกรรมทางการเงินได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน
      
       พ.ต.อ.ชนะชัย ระบุว่า การกระทำความผิดในลักษณะของการจำหน่าย จ่าย แจกชุดคำสั่งโปรแกรมช่วยเล่นเกมออนไลน์ดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 13 ของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากมีการขยายผลการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่าชุดคำสั่งโปรแกรมช่วยเล่นดังกล่าวได้มีการเขียนหรือจัดทำขึ้นมาเอง ก็จะอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 5 , 7 , 9 ซึ่งจะมีโทษสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับการเขียนโปรแกรมว่าเป็นไปในลักษณะใด



ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์22 กรกฎาคม 2554 00:30 น

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อังกฤษกระตุ้นทั่วโลก อังกฤษหวั่นโลกไซเบอร์กระทบความมั่นคง





อังกฤษกระตุ้นทั่วโลก ร่วมมือยกระดับการปกป้องข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หวั่นกระทบความมั่นคงของประเทศ


นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศ อังกฤษ กล่าวกระหว่างการประชุมหน่วยงานความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี ระบุว่า โลกยุคเทคโนโลยีออนไลน์ ทำให้ผู้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบรายวัน ทำให้แต่ละประเทศจำเป็นต้องกำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะด้านมืดของเทคโนโลยีออนไลน์ ส่งผลกระทบถึงประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแต่ละประเทศจึงควรร่วมกันยกระดับความมั่นคงทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งถูกรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยใช้เป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงประชาชน ขณะเดียววกันศัตรูของหลายประเทศทั่วโลก ก็มีช่องทางใหม่ๆมากขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงกันข้าม เจาะข้อมูลความลับ และช่วยเหลือกลุ่มองค์กรก่อการร้ายและเครือข่ายอาชญากร

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษอยู่ระหว่างเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติว่าด้วยจริยธรรมเทคโนโลยีออนไลน์ช่วงปลายปีนี้ และเชื่อว่าสามารถผลักดันให้เกิดการตกลงด้านเทคโนโลยีออนไลน์ระหว่างประเทศได้ระดับหนึ่ง โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศกว่า 30 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการหารือยังไม่ชัดเจน รัฐบาลอังกฤษระบุถึงความจำเป็นในการยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีออนไลน์ เพราะหลายประเทศยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากอินเทอร์เน็ตเพียงพอ  แม้ว่าขณะเดียวกันเทคโนโลยีออนไลน์จะสามารถใช้สนับสนุนเผยแพร่อุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยและข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน



ที่มา: news.voicetv.co.th

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"กูเกิล"ส่งทัพใหญ่บุกไทย ตั้งสำนักงาน-ล่าSMEขายบนเว็บตีตลาดโลก




"กูเกิล" เปิดเกมรุกธุรกิจในไทยเต็มตัว วางแผนเปิดสำนักงานสาขา หลังตั้ง "อริยะ พนมยงค์" นั่งเก้าอี้ผู้จัดการประจำประเทศไทยคนแรก เปิดรับสมัครทีมงานอีกหลายตำแหน่ง ลุยธุรกิจในไทยเต็มตัว พร้อมแผนผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่โลกออนไลน์ เพื่อเป็นฐานธุรกิจ "โฆษณา ออนไลน์" ของกูเกิลในอนาคต



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า การประกาศแต่งตั้งนายอริยะ พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย คนแรก เพื่อรับผิดชอบการขายและพัฒนาธุรกิจของกูเกิลในประเทศไทย ถือเป็นการประกาศเปิดเกมรุกตลาดของกูเกิลอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้เวลาและกระบวนการคัดเลือกมานาน โดยนายอริยะมีประสบการณ์กว่า 14 ปีในวงการไอซีที และก่อนหน้านี้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์คอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การแต่งตั้งนายอริยะ พนมยงค์ เป็นผู้จัดการประจำประเทศไทย จะมาพร้อมกับการตั้งสำนักงานกูเกิล เพื่อเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยเต็มตัว พร้อมกันนี้กูเกิลยังได้เปิดรับสมัครงานอีกหลายตำแหน่ง รวมทั้งผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกสถานที่ตั้งสำนักงาน

ที่ผ่านมาแม้ว่ากูเกิลจะมีทีมงาน คนไทยเข้ามาดำเนินงานกับคู่ค้าและพันธมิตรต่าง ๆ แต่พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้กูเกิลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องโปรดักต์และการตลาด แต่ยังไม่ได้เน้นเรื่องธุรกิจ ดังนั้น หลังจากนี้กูเกิลก็จะมาเน้นเรื่องการขยายธุรกิจอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ถือว่าเป็นนโยบายของกูเกิลในการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเดิมใช้สิงคโปร์เป็นฐานธุรกิจทั้งหมด ขณะนี้มีแผนขยายการลงทุนในประเทศต่าง ๆ โดยเมื่อต้นปีได้เปิดสำนักงาน สาขาที่มาเลเซีย และประเทศไทยก็อยู่ในลำดับต่อไป หลังจาก "กูเกิล" ได้เข้ามาครอบครองตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นในไทยเกือบ 100% แถมด้วยการรุกคืบการทำโฆษณาออนไลน์ "กูเกิลแอดเวิร์ดส์" จนทำใหไทยเป็นตลาดใหญ่ มีปริมาณผู้ใช้บริการโฆษณามากเป็นอันดับหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่นางสาวพรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย จากกูเกิลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา กูเกิลได้เข้ามาทำกิจกรรมการตลาดเชิงรุกในประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการทำแคมเปญ Better Web, Better World เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่โลกออนไลน์ เป็นการทำภาพยนตร์โฆษณาทางทีวีครั้งแรกในประเทศไทย และประเทศที่สองของโลก

เนื่องจากกูเกิลมองว่าไทยมีจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอยู่ที่ 21-22 ล้านคน และมีประชากรที่ยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องออกโฆษณาบนแมสมีเดีย เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมากูเกิล ได้ประกาศความร่วมมือกับสำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดแคมเปญ "ธุรกิจไทย Go Online" เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยเข้าสู่โลกออนไลน์ และปูทางสู่อีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นรวมถึงเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดโลก ด้วยการเข้ามาสนับสนุนการสร้างเว็บไซต์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ที่ทำได้รวดเร็ว ง่าย และฟรี โดยตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปีจะดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการให้ได้ 50,000 ราย

โครงการธุรกิจไทย Go Online ในประเทศไทย ถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับชื่อเว็บไซต์ .in.th หรือ .co.th ฟรีในปีแรก และให้เครดิตโฆษณาผ่านกูเกิลแอดเวิร์ดส์มูลค่า 3,000 บาท ทั้งบริการให้คำปรึกษาผ่านเว็บคลินิกตามหัวเมืองใหญ่ และบริการสนับสนุนจากศูนย์ประสานงานโครงการ 55 แห่งในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้มีเว็บไซต์เนื้อหาภาษาไทยมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเข้าสู่โลกออนไลน์ อีกด้านหนึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของกูเกิล แอดเวิร์ดส์ตามไปด้วย

โดยกูเกิลมองว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการกว่า 3 ล้านราย และมีเพียง 5% เท่านั้นที่นำธุรกิจสู่โลกออนไลน์ กูเกิลจึงมองว่ายังมีโอกาสที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

นางสาวพรทิพย์กล่าวว่า วันที่ 29-30 ก.ค.นี้ กูเกิลจะจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งแรกให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สอนการทำเว็บไซต์ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "ธุรกิจไทย Go Online" เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยเข้าสู่โลกออนไลน์และปูทางสู่อีคอมเมิร์ซ โดยรวมกับธนาคาร กสิกรไทยที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องช่องทางการชำระเงินออนไลน์ และไปรษณีย์ไทยในเรื่องโลจิสติกส์

"เป็นเวิร์กช็อปสอนทำเว็บไซต์ให้กับผู้ประกอบการแบบตัวต่อตัว ปีนี้กูเกิลยังมีแผนเดินสายจัดกิจกรรมไปตามหัวเมืองหลัก ๆ ทั่วประเทศทุกเดือน โดยมีโปรแกรมไปจัดที่เชียงใหม่, ขอนแก่น, ชลบุรี และหาดใหญ่"

นางสาวพรทิพย์กล่าวว่า การสอนทำเว็บไซต์กูเกิลร่วมมือกับ ม.ราชภัฏ ซึ่งในกรุงเทพฯจะเป็น ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ฃอบรมให้นักศึกษาไปสอนให้ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้บริการของ "กูเกิล" นั้นส่วนใหญ่จะเป็นบริการที่เปิดให้ผู้บริโภคใช้งานฟรี ไม่ว่าจะเป็นกูเกิลเสิร์ช, จีเมล์, กูเกิลแมป, กูเกิลโครม จนถึงกูเกิลพลัส แต่ตัวที่สร้างรายได้หลักกว่า 90% ของกูเกิลในเวลานี้ ก็คือ "กูเกิล แอดเวิร์ดส์" เป็นบริการโฆษณาซึ่งจะลิงก์กับกูเกิล เสิร์ช เพราะปัจจุบันการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลจากกูเกิล ซึ่งถ้าคำค้นตรงกับสินค้าและบริการของลูกค้า ข้อมูลเว็บไซต์ของลูกค้าก็จะโผล่ขึ้นมาอยู่เป็นลำดับแรก ๆ ของการค้นหา ซึ่งทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการ "กูเกิล แอดเวิร์ดส์" จะมีโอกาสในการขายสินค้ามากขึ้น ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของกูเกิลด้วย

ทั้งนี้ล่าสุด PayPal ได้เปิดเผยถึง ผลการศึกษา "ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตและผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย" ซึ่งจัดทำโดยบริษัทนีลเส็นฯระบุว่า ในปี 2553 ขนาดของตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ของประเทศไทย มีมูลค่า 1.47 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งสะท้อนว่า คนไทยมองเห็นประโยชน์มากมายจากการซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์รุกเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยมากขึ้น


ที่มา: http://www.prachachat.net วันที่ 23 ก.ค. 54 ข่าวไอซีที

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ญาณพล ยั่งยืน" ชี้พรบ.คอมฯใหม่ต้องมีบรรทัดฐานกม.ชัดเจน


พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ต้องมีบรรทัดฐานกฎหมายชัดเจน เชื่อใกล้คลอดแล้ว ไม่เกินปี 55 หลังอุ้มท้องมานาน มั่นใจไม่นาน 9 ปี อย่างพ.ร.บ.คอมฯ 2550…

หลังจากสวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สร้างความแปลกใจให้มิใช่น้อย เพราะตัวเลขการรับรู้ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 มีเพียง 0.98% หรือเรียกว่า ยังไม่ถึง 1% ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับดังกล่าว ใช้เวลานานถึง 9 ปี กว่าจะคลอดออกมาได้



ผศ.ดร.พรรณี สวนเพลง

ผศ.ดร.พรรณี สวนเพลง ประธานคณะทำงานโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ. คอมฯ 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมฯ 2550 กับประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เป็นประจำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 409 คน โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 24–30 พ.ค. พบว่า ประชาชนมีความรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. เป็นอย่างดีเพียงแค่ 0.98% พอรับรู้บ้าง 33.01 % ไม่ค่อยรู้ 49.14 % และไม่มีการรับรู้เลย 16.87% 2.การกำกับดูแล พ.ร.บ.ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงไอซีที 55.72% ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค 33.82% กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 4.87% และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.14 %

ขณะที่ ประชาชน 74.33% ทราบว่า พ.ร.บ.คอมฯ 2550 มีขึ้นเพื่อป้องกันการใช้คอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล ส่วนราชการ ยังมีส่วนที่ไม่ทราบดังกล่าว 25. 67% ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ ว่าถ้าหากเกิดการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจะถูกลงโทษ 26. 65% การโฟสข้อความกล่าวร้าย หรือ การนำข้อมูลของผู้อื่นไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหาย 17. 42% การเปิดสื่อลามกอนาจาร หรือการโพสต์รูปลามกอนาจารมีความผิด 15.81% การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว 12.58% หากนำข้อมูลของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ระบุแหล่งที่มาอาจจะเข้าค่ายความผิด 8.39% และอีก 29.54% เป็นการนำไวรัสไปปล่อยในอินเทอร์เน็ต การโจรกรรมข้อมูล และการโฆษณาเกินจริง


อีกทั้ง ประชาชนทราบเกี่ยวกับการเฝ้าระวังไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ในการใช้คอมพิวเตอร์ 74.33% และไม่ทราบเรื่องดังกล่าวอีก 25.67% ประชาชน ทราบว่า การให้ข้อมูลกับผู้อื่นเพื่อเข้าใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ต และหากผู้อื่นนำไปกระทำความผิดจะได้รับความผิดไปด้วย ถึง 70.17% และไม่ทราบเรื่องดังกล่าวอีก 29.83 % ประชาชาชนทราบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 68.22% และไม่ทราบ 29.83% ประชาชนคิดว่า พ.ร.บ.คอมฯ มีความจำเป็นต่อการทำงาน 58.44% และเห็นว่าไม่มีความจำเป็น 41.56%

ขณะที่ ประชาชนไม่เคยประสบปัญหาจากการละเมิด หรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 90.95% ไม่เคย 7.82% ประชาชนเห็นว่า พ.ร.บ. คอมฯ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการละเมิด หรือการกระทำความผิดได้บ้าง 65.28% ช่วยแก้ไขได้มาก 16.87% ช่วยไม่ค่อยได้ 12.71% และช่วยไม่ได้เลย 3.67% ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พรบ.คอมฯ 91.93% ได้รับผลกระทบ 6.11% และ ประชาชนสนใจ ที่จะเป็นอาสาเฝ้าระวังการกระทำความผิด 29.58% ไม่สนใจ 69.19%

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ ปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ในส่วนของการจับกุม คือ ไม่มีการเก็บรายงาน ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการเก็บรายงาน มองว่าอาจจะเกิดจากความไม่รู้ ไม่มีงบประมาณ และไม่ให้ความสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรคำนึง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของการจับกุม เพราะหากไม่มีบันทึกข้อมูล หรือล็อกไฟล์ไว้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

ส่วนกรณีที่ พ.ร.บ.คอมฯ ถูกดึงเข้าสู่การเมืองนั้น รองอธิบดีดีเอสไอ ชี้แจงว่า ใช้เป็นเครื่องมือไม่ได้ เพราะยังไม่มีอำนาจมากพอในการจัดการบางกรณี นอกจากนี้ ยังแนะนำว่า ผู้ให้เช่าใช้อินเทอร์เน็ตควรให้ผู้มาใช้บริการอินเทอร์เน็ต ลงรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว เพื่อการติดตามรอย หากเกิดเรื่องขึ้น เหมือนอย่างที่เวลามีคนยืมรถที่ต้องจดรายละเอียด ไม่ใช่ให้กุญแจไปอย่างเดียว

พ.ต.อ.ญาณพล ชี้แจงต่อว่า สิ่งที่ยังขาด ใน พ.ร.บ.คอมฯ คือ ควรมีบรรทัดฐานเดียว นั่นคือ กฎหมาย หากใครทำผิดควรได้รับการติดตามข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ให้เป็ในทิศทางเดียวกัน ส่วนสิ่งที่อยากแก้ไข คือ ให้พนักงานสอบสวนควรมีสิทธิ์เลือกใช้ได้เวลามีผู้กระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ โดยหวังว่าจะได้เห็นในพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่นี้

“ความผิดที่มีโทษทางอาญา และใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องประกอบ หรือเกี่ยวข้องแล้ว การกระทำใดที่ทำ ถ้าตำรวจจะทำอะไรที่มีคอมพิวเตอร์เป็นของกลาง สามารถเลือกใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ได้ เช่น เว็บไซต์มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ขายของปลอม แล้วมีการยึดเครื่องนั้นไป เซิร์ฟเตอร์ เวอร์นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเว็บอื่น แต่มีอีกหลายเว็บที่อยู่ด้วย ถามว่าเว็บนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วย ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับเก่าเป็นอยู่ เพราะหลักฐานจริงๆ ต้องการข้อมูลในเครื่อง แต่ไม่ได้ต้องการเซิร์ฟเวอร์” รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ญาณพล ทิ้งท้ายด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ใช้เวลาอีกไม่มาก เหมือนฉบับแรก เพราะเดิมคิดว่าสังคมยังไม่ยอมรับเรื่องคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยให้ผ่านไปก่อน แล้วมาปรับ ส่วน พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่นี้ คาดการณ์ว่าน่าจะเห็นภายใต้จุดกึ่งกลางของมาตรการที่เหมาะสม อีกทั้งถ้าการร่างฯ คำนึงถึงเทคโนโลยี สิทธิเสรีภาพ การปราบปราม ยังมีอีกหลายประเด็นที่หลุดรอด ภายในปี 2555 หรือปีหน้านั่นเอง


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 13 มิ.ย. 54



วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก.ไอซีที มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รุ่นที่ 2





นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ร่วมการอบรมโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550” รุ่นที่ 2 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 8 กระทรวงไอซีที ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ การจัดอบรมฯครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ภายใต้โครงการส่งเสริมสมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยกระทรวงฯ ได้จัดการอบรมในหลักสูตรการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ  สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรมสรรพากร สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งได้แบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น และมีผู้ผ่านการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 95 คน


ที่มา: http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=4783&filename=index

ก.ไอซีที ประชุมการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 1






     
นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานเปิดการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 1 ตามโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามการกระทำความผิดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ณ ห้องประชุม 803 ชั้น 8 กระทรวงไอซีที ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ การซักซ้อมรับมือภัยคุกคามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในหน่วยงานระดับกระทรวงฯ ให้มีความพร้อมในการรับมือเมื่อเกิดภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสามารถควบคุมความเสียหาย แก้ไขและกู้คืนระบบได้ตามกรอบขั้นตอนการปฏิบัติงานที่วางไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งนโยบายหรือมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านกฎหมาย ด้านบุคลากร รวมทั้งระบบที่พร้อมใช้งานเพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าวอีกด้วย

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไอซีทีผนึกสวนดุสิต จัดอบรม พ.ร.บ.คอมฯ2550





กระทรวงไอซีที จับมือ มรภ.สวนดุสิต จัดอบรมให้ความรู้พ.ร.บ.คอมฯ 2550 2 หลักสูตร ตั้งเป้าให้ทราบถึงวิธีการจัดเก็บระบบ log File รวม 250 คน...

วันที่ 4 ก.ค.นางจีราวรรณย�บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ครั้ง ที่ 2 ว่า ขณะนี้ ปัญหาสังคมจากโลกออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคม และความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น กระทรวงฯ จึงสร้างเกราะป้องกันปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ ด้วยการจัดทำโครงการ ให้ความรู้ความเข้าใจพ.ร.บ.คอมฯ 2550 ขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในกฎหมายฉบับนี้ย�ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดการฝึกอบรมครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพ.ย. 2552 ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรความรู้พื้นฐานและวิธีการเผยแพร่ความรู้ตาม พรบ.คอมฯ 2550 (Training the trainer) สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการ และหลักสูตร พรบ.คอมฯ 2550 สำหรับ กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี โดยมุ่งเน้นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับรูปแบบการกระทำความผิดตามมาตราต่าง ๆ และบทลงโทษ

ปลัดไอซีที กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังไม่มีการรับรู้ที่เพียงพอ กระทรวงฯ จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดการฝึกอบรม ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวเกิด การรับรู้มากขึ้น ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระ ทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับกลุ่มวิทยากรขององค์กร / หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน (ICT004) และหลักสูตรสำหรับผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต / Admin (ICT006) เพื่อให้ทราบถึงวิธีการจัดเก็บระบบ log File รวมจำนวนประมาณ 250 คน

“ การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พรบ.คอมฯ 2550 แต่ลำพังเพียงกระทรวงไอซีที หน่วยงานเดียวนั้น ไม่อาจจะดำเนินการได้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม อาทิ สถาบันการศึกษา องค์กร/หน่วยงานเอกชน ตลอดจนเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ มาเป็นภาคี เครือข่าย ความร่วมมือ เพื่อร่วมกันสร้างแนวป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยไม่ให้เกิดการกระทำความผิดหรือลดความเสี่ยงที่เกิดจากคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด และกระทรวง ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตกาลจะได้ขยายความร่วมมือนี้ออกไปให้กว้างขวาง มากยิ่งขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว



ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/tech/183820   (วันที่ 2011-07-04 16:45:00 โดย ไทยรัฐ - ข่าวด่วน)  
           http://www.tispa.or.th/isp_detail.php?id=146                                                                        

ชมตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องแรกบนโซเชียลมีเดีย ที่คุณจะได้มีส่วนร่วม



inside (อินไซด์) ภาพยนตร์บนโซเชียลมีเดียเรื่องแรก ที่กำกับโดย ดีเจ คารูโซ ที่เคยกำกับ I Am Number Four และ Disturbia ได้จับมือกับอินเทลและโตชิบาจัดสร้างภาพยนตร์เรื่องอินไซด์ขึ้น โดยให้ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป ได้มีส่วนร่วมสร้างกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาพยนตร์จะเริ่มถ่ายทำในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้  ถูกแบ่งเป็นตอนๆ และออกตอนใหม่ทุกๆ 2 วัน และเชิญชวนให้ผู้ชมได้มีส่วนในการสร้างตอนต่อไปผ่านโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้น 3 สัปดาห์จะร่วมเนื้อเรื่องที่ผู้ชมได้แสดงความเห็นและนำมาทำเป็นภาพยนตร์ตัวเต็มและจัดฉายเป็นเรื่องยาว

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตำรวจไซเบอร์เผยแนวโน้มทำผิดทางคอมพิวเตอร์พุ่ง


ตำรวจไซเบอร์เผยแนวโน้มทำผิดทางคอมพิวเตอร์พุ่ง พบเรื่องหมิ่นประมาทมากสุด ส่วนใหญ่เผยแพร่ภาพโป๊-เปลือย หวังรีดไถและประจานให้เสียหาย เปิดงานวิจัยชิ้นล่าสุดนักท่องเน็ตไม่รู้กฎหมายและช่องทางร้องเรียน

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม มีการจัดเสวนาหัวข้อ "รู้เท่าทันกฎหมาย ชนะภัยไซเบอร์" พร้อมกับนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่อง "ภัยไซเบอร์ : การรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบ" จัดขึ้นที่อาคารสีบุญเรือง สีลม โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ต.อ.สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปดอทคอม







ผศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวถึงผลวิจัยภัยไซเบอร์ชิ้นล่าสุดว่า เก็บข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2554 สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมุ่งศึกษาอาชญากรรมบนโลกอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ กลุ่มอายุ 15 - 25 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน วันละประมาณ 1-2 ชั่วโมง พฤติกรรมที่ผู้ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์พบบ่อยมากที่สุด คือ ได้รับอีเมล์โฆษณาขายสินค้าหรือชักชวนทำงานจากบุคคลที่ไม่รู้จัก 49.8% รองลงมาคือ ได้รับไวรัสทางอีเมล์หรือเปิดเว็บไซต์ 44.9% ถูกใช้คำพูดไม่สุภาพ หมิ่นประมาททางอีเมล์ เว็บบอร์ดหรือสังคมออนไลน์ 19.1% ถูกตัดต่อภาพส่วนตัวแล้วนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ 8%


"ส่วนการดำเนินการเพื่อเอาผิดกลับพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่ดำเนินการใด ๆ กับผู้กระทำผิดเลย 32.4% รองลงมาคือ เรียกร้องความเป็นธรรมผ่านสังคมออนไลน์และผู้ดูแลเว็บไซต์ 15.1% ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้สึกเข้าถึงได้มากกว่า ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีมีจำนวนน้อยมาก เพราะมีผู้ตอบว่าไม่รู้จะต้องร้องเรียนที่ไหน กับใคร จำนวน 51.1% และยังไม่ทราบมาก่อนว่ามี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จำนวน 35% นอกจากนี้ มีผู้ตอบว่ารู้ว่ามีกฎหมาย แต่ไม่เคยอ่าน จำนวน 35.9%" ผศ.ดร.เสาวณีย์เผย







ด้าน พ.ต.อ.สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า ปอท.ตั้งขึ้นมา 2 ปี มีสถิติรับเรื่องร้องทุกข์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 พบว่า มีจำนวนการกระทำผิดความผิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2553 มีสถิติรับแจ้ง 285 เรื่อง ส่วนปีนี้ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน มีจำนวน 191 เรื่อง ประเภทความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คือ การหมิ่นประมาทด้วยการเขียนข้อความและลงรูปภาพให้ผู้อื่นเสียหาย มีตัวเลขประมาณ 30% รวมทั้งการหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง ซึ่งมีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการหลอกลวงและฉ้อโกง โดย ปอท.ดำเนินคดี 70 เรื่อง ขณะนี้ได้ลงโทษผู้กระทำผิดแล้วจำนวน 50 เรื่อง ส่วนที่เหลือส่งคดีไปยังตำรวจท้องที่รับผิดชอบ


"เหยื่อที่ถูกกระทำความผิดบนโลกไซเบอร์ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ กลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เนื่องจากการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างมากเท่ากับการกระทำของผู้ใหญ่ ซึ่งมีการหมิ่นประมาทด้วยการนำภาพโป๊-เปลือยของผู้เสียหายไปประจานต่อสาธารณะ และยังมีการฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายสินค้า ซึ่งการซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมีโอกาสสูงมากที่จะถูกหลอก" พ.ต.อ.สมพรเผย


ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า ก่อนที่จะส่งอีเมล์ของตนเองหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงทางเว็บไซต์ ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบให้ดีว่าจะสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น สร้างความตื่นตระหนกแก่สังคม หรือสร้างความเสียหายต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ ขอให้หลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย หากพบเห็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์สามารถแจ้งได้ทาง www.tcsd.police.com








ด้านนายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปดอทคอม กล่าวว่า ขณะนี้การหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการหลอกลวงขายสินค้า และการหลอกรับบริจาคช่วยเหลือสุนัขและแมว โดยเปิดบัญชีรับบริจาคเงินจากผู้ใจบุญ พวกมิจฉาชีพอาศัยช่องทางนี้ในการฉ้อโกงประชาชน ขอให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องตัดสินใจให้รอบคอบก่อนส่งต่อหรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่น
Author Articles
Latest Articles
Most Read Articles



วิธีการใช้ Internet Banking อย่างไรให้ปลอดภัย ตอนที่ 1-2

จากประเด็นปัญหาการใช้งานบริการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตที่กำลังเริ่มต้นไปได้สวย แล้วต้องมาหยุดอยู่กับปัญหาที่แฮกเกอร์เข้ามาแอบขโมยพาสเวิร์ดไปจากคุณ เพื่อให้การใช้งานบริการด้านนี้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องทำให้เครื่องของเราปลอดภัยไร้ช่องโหว่กันเสียก่อน ดังนี้ครับ

1. อุดรูรั่วบนวินโดวส์ให้เรียบร้อยด้วยการเรียก Windows Update ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องคุณจะใช้วินโดวส์ของแท้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นรูรั่วทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยของวินโดวส์ไมโครซอฟท์จะยอมให้คุณดาวน์โหลดได้เต็มที่



2. เปิดใช้ Firewall ในวินโดวส์ทุกเวอร์ชันจะมีไฟรวอลล์มาให้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าการเปิดไฟร์วอลล์จะทำให้เครื่องทำงานช้าลงอะไรมากมาย เพราะไฟรวอลล์ที่มาพร้อมกับวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ได้มีการปรับปรุงเรื่องนี้ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของไฟร์วอลล์ที่มีอยู่ในวินโดวส์ก็เทียบกับบริษัทที่ทำเรื่อง Security มาโดยเฉพาะ อย่าง Kaspersky, Symantec และ Trend Micro ไม่ได้ 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดควรจะใช้ชุดซอฟต์แวร์ประเภท Internet Security Suite เพราะไฟร์วอล์ที่อยู่ในชุดจะทำงานประสานกับโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่อยู่ในชุดได้ดีกว่า แต่ถ้าคุณอยากใช้ของฟรีก็แนะนำ Comodo Personal Firewall หรือ PC Tools Firewall Plus ก็ได้เช่นกัน แต่ระวังด้วยเพราะการที่คุณเลือกใช้ซอต์แวร์แอนตี้ไวรัสกับไฟร์วอล์คนละบริษัทมักจะเกิดปัญหาไฟร์วอลล์จะบล็อกไม่ให้แอนตี้ไวรัสให้อัพเดทรายชื่อฐานข้อมูลไวรัสได้

3. อัพเดตใช้บราวเซอร์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอยู่ตลอดเวลา เพราะหลายครั้งที่รูรั่วบนบนบราวเซอร์จะเป็นช่องโหว่ให้แฮกเกอร์เข้ามาเก็บข้อมูลในเครื่องเราได้ ซึ่งทางผู้ผลิตทั้งหลายต่างก็รู้ปัญหานี้จึงออกเวอร์ชันใหม่ออกมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นควรใช้บราวเซอร์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดเสมอ โดยเวอร์ชันล่าสุดของบราวเซอร์มีดังนี้
  • Internet Explorer 8.0
  • Mozilla Firefox 3.6.8
  • Opera 10.61
  • Google Chrome 5.0.375.126
  • Apple Safari 5.0.1
เชื่อว่าทั้ง 3 ขั้นตอนนี้คงไม่ยากจนเกินไป ลองทำดูกันก่อน ไว้ตอนต่อไป จะมาถึงขั้นตอนการใช้เบราเซอร์อย่างไรในการเริ่มใช้บริการให้ปลอดภัยครับ


วิธีการใช้ Internet Banking อย่างไรให้ปลอดภัย ตอนที่ 2


เชื่อว่าหลายคนๆ คงจะทำตามขั้นตอนการใช้งาน "วิธีการใช้ Internet Banking อย่างไรให้ปลอดภัย ตอนที่ 1" ทีนี้ก็เข้ามาสู่ขั้นตอนการใช้บริการ Internet Banking ผ่านเบราเซอร์ ดังนี้ ซึ่งวิธีนี้แนะนำสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้นครับ

1. ก่อนที่จะใช้บริการอินเทอร์เน็ต คุณควรจะเคลียร์ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในคลิบบอร์ดของวินโดวส์ทั้งหมดก่อนด้วย อ่านได้ใน "ล้างข้อมูลในคลิบบอร์ดวินโดวส์ให้สิ้นซากกันดีกว่า"

2. จากนั้นเข้าไปใช้บริการ Internet Banking ที่ใช้บริการอยู่ เท่าที่พอรวบรวมมาได้มีดังนี้

ธนาคารกรุงเทพฯ https://ibanking.bangkokbank.com


ธนาคารกสิกรไทย https://ebank.kasikornbank.com/kcyber/login_th.html


ธนาคารกรุงไทย https://www.ktbonline.ktb.co.th/new/


ธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scbeasy.com/v1.4/site/presignon/index.asp



อัพเดตรายชื่อลิงก์ล่าสุด วันที่ 23 สิงหาคม 2553 ตรงนี้สังเกตุได้ว่าทุกๆ ลิงก์จะเป็น "https" ไม่ใช่ "http" และที่สำคัญ ถ้าคุณไม่ได้พิมพ์ "https" คุณก็จะเข้าไปใช้บริการของเว็บไม่ได้ ที่สำคัญทุกๆ เว็บจะมีสัญลักษณ์รูปกุญแจโผล่อยู่ด้านข้างเสมอ นั่นแสดงถึงความปลอดภัยที่ธนาคารมีให้ ถ้าไม่มีขึ้นสัญลักษณ์รูปกุญแจนั่นก็แสดงว่าเว็บไซต์ที่คุณเจออาจจะเป็นเว็บสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงก็ได้ สำหรับการใช้บริการเว็บเหล่านี้ 


ขอแนะนำว่าให้พิมพ์การเข้าเว็บเหล่านี้เอาเอง ไม่ควรเข้าจากเว็บอะไรก็ตามที่มีทำลิงก์ไว้ให้เพื่อความสะดวกสบายของคุณ หรือแม้กระทั่งอีเมล์ที่ส่งมาจากธนาคารเองก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดควรคีย์ทั้งหมดด้วยตัวเองครับ หรือถ้ามั่นใจว่าทำบุ๊กมากไว้ในเบราเซอร์จะคลิ๊กจากในนั้นก็ได้เช่นกัน


3. ข้อนี้สำคัญที่สุด การกรอกชื่อผู้ใช้บริการและรหัสผ่าน เชื่อว่าหลายๆ คน คงจะไม่อยากจำชื่อ Username กับ Password เอง มักจะใส่ไว้ในโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง ซึ่งหลายคนถ้าไม่อยากเสียเงินเพิ่มก็ใช้วิธีกรอกข้อมูลในไฟล์เอ็กเซลเอาไว้ แล้วเวลาจะใช้ก็ใช้วิธีเลือกไปที่ใช้ แล้วก็ใช้ Ctrl+c คัดลอกชื่อทั้ง Username ไปใส่ แล้วก็ตามด้วย Password ซึ่งบอกตรงๆ ว่าวิธีนี้มีความเสี่ยงเอามาก เพราะถ้าเครื่องที่คุณใช้อยู่ อาจจะโปรแกรมประเภทดับจับคีย์ หรือคอยเก็บค่าข้อมูลในคลิบบอร์ด 


เท่านี้คนที่ไม่หวังดีก็จะเอาข้อมูลคุณไปได้แล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือ "อ่านแล้วคีย์ในแต่ละช่องด้วยตัวเองครับ" พอคุณเข้าไปได้แล้ว


สังเกตด้วยนะครับว่า ในเบราเซอร์ยังขึ้นรูปกุญแจอยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี ให้กด Log Out ออกทันที แล้วโทรไปหาขอระงับบริการการใช้งาน Internet Banking กับธนาคารทันที เพราะนั่นแสดงถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้งานแล้ว แต่ถ้ามีหลังจากนี้คุณก็จะเข้าไปใช้บริการต่างๆ ในนั้นได้อย่างวางใจ


4. หลังจากใช้บริการเสร็จให้กด Log out ออกด้วยทุกครั้ง เพื่อให้การติดต่อระหว่างคุณกับการใช้บริการ Internet Banking สุดสิ้นทันที เพราะถ้าคุณปิดหน้าต่างการใช้ Internet Banking นั้นไป ไม่ได้หมายความว่าการใช้บริการของคุณจะสิ้นสุดนะครับ เห็นได้ว่าทั้ง 4 ข้อนี้เป็นเรื่องง่ายที่คุณสามารถทำตามได้ด้วยตัวเอง แค่นี้เชื่อว่าคุณก็สามารถใช้งาน Internet Banking ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นแล้วครับ


ที่มา: http://www.arip.co.th เอ.อาร์.ไอ.พี