วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich กับฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา





ในที่สุด Google ก็ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่ หรือ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 ที่่ผ่านมา ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับ Samsung Galaxy Nexus หรือชื่อโค้ดเนมเดิมว่า Nexus Prime ที่เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรก ที่ประเดิมใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ครับโดยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น ทาง Google ได้ปูทางเอาไว้ให้ใช้ได้กับทั้ง สมาร์ทโฟน และ แท็บเล็ต ภายในระบบปฏิบัติการเดียว ไม่เหมือนกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 Honeycomb ที่ใช้งานได้เฉพาะแต่ แท็บเล็ต เท่านั้น นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ยังเป็นแบบ Open source ที่เปิดทางให้กับนักพัฒนา เข้ามาสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับ และพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwichต่อไปในอนาคต ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม และมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง ไปดูกันดีกว่าครับ


User Interface



สำหรับ UI บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่าง ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.3 Gingerbread และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 Honeycomb ครับ แต่กลิ่นอายของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich จะโน้มเอียงมาทาง Honeycomb ซะส่วนใหญ่ อย่างเช่น หน้าจอตอนปลดล็อค รวมไปถึงปุ่ม 3 ปุ่มอย่าง ปุ่ม Back, Home และ Multitasking นอกจากนี้ หน้า Homescreen นั้น ยังสามารถสร้างโฟลเดอร์ รวมแอพพลิเคชั่นให้เป็นหมวดหมู่ได้ คล้ายๆ กับบน iOS ครับ


Notification



สำหรับส่วนของ Notification นั้น ยังเป็นแบบ Dropdown เหมือนเช่นเคยครับ แต่ภาพรวมของ Notification นั้น ถูกปรับปรุงให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังสามารถดูในส่วนของ Notification ได้จากหน้า Lock Screen ได้ทันที เช่นเดียวกับหมวดกล้องถ่ายรูป โดยไม่ต้องทำการปลดล็อคเหมือนแต่ก่อน



ในส่วนของ Virtual Keyboard นั้น ได้มีการแก้ไขในเรื่องการของ การสะกดคำ 
และการแก้ไขคำให้ถูกต้อง


หน้า Visual Multitasking สามารถเรียกใช้ Application ที่ถูกเปิดใช้งานก่อนหน้า
ได้จากกดปุ่มนี้เพียงปุ่มเดียว


หน้าจอขณะมีสายเข้า แบบใหม่

ฟังก์ชั่น และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามา และทำการปรับปรุงให้ดีขึ้


ฟีเจอร์ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น อยู่ที่แอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า New People ครับ ซึ่ง New People app ตัวนี้ มาแทนที่ Contact แบบเดิม ซึ่งมี UI ที่น่าใช้ และแสดงรายชื่อของผู้ติดต่อได้อย่างชัดเจน


ในส่วนของ Gmail นั้น ได้เพิ่มฟังก์ชั่น Swipe gestures เข้ามา และได้เพิ่มความรวดเร็วในการใช้งาน โดยการ pop-up รายชื่อผู้ติดต่อมาให้เลือก ขณะที่ผู้ใช้งานกำลังกรอกอีเมลที่ต้องการจะส่ง ซึ่งช่วยลดเวลาในการพิมพ์ได้เป็นอย่างดีครับ


เพิ่มระบบการสั่งการด้วยเสียง ให้พิมพ์เป็นข้อความตามคำพูดของเรา


ด้าน Browser นั้น ได้เพิ่มออปชั่น Save for offline reading สำหรับเซฟเว็บไซต์ไว้ดูแบบออฟไลน์ และดีไซน์ tab ใหม่ ให้สามารถเพิ่ม new tab ได้สูงสุดถึง 16 อันด้วยกัน นอกจากนี้ ยังสามารถดูเว็บไซต์ในโหมด Desktop ได้อีกด้วย


สามารถแชร์ภาพจาก Gallery ไปยัง Google+ หรือส่งอีเมลได้เลยทันที


ในหมวด Gallery นั้น มีโปรแกรมปรับแต่งภาพมาให้ในตัวด้วย

Data Usage

สำหรับส่วนของ Data Usage นั้น เป็นตัวช่วยควบคุมการใช้งานของเครื่อง ไม่ให้มีการใช้งานเกินลิมิต

Face Unlock

สำหรับฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า Face Unlock นั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีการปลดล็อคเครื่อง โดยทำการสแกนใบหน้าของเจ้าของเครื่อง

Android Beam

ฟีเจอร์ใหม่ ที่เก๋ไก๋ไม่แพ้ใคร มีชื่อว่า Android Beam ครับ โดย Android Beam นั้น เป็นฟีเจอร์ที่ทำการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี NFC ซึ่งเป็นแชร์ข้อมูลระหว่างเครื่องที่มีระบบ NFC ด้วยกัน โดยการนำเครื่องมาวางใกล้ๆ กัน แล้ว Beam 

กำหนดการอัพเดท ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich
สำหรับการอัพเดทอุปกรณ์ของเรา ให้เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น คาดว่า น่าจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แต่อุปกรณ์รุ่นใดบ้าง ที่จะสามารถอัพเดทได้ คงต้องรอการประกาศจากทาง Google อีกทีครับ

 ที่มา: รายละเอียดเพิ่มเติม : phonearena.com เมื่อวันที่ : 20 ตุลาคม 2554

แม่เจ้าโว้ย! วิศวกรค้นพบเทคโนโลยียืดอายุแบตเตอรี่ 10 เท่าแล้ว


batery_life
ว่ากันว่า iOS 5.0 ใหม่ของ iPhone ทำให้แบตเตอรี่หมดไวขึ้น บ้างก็ว่าใช่ บ้างก็ขอเถียง แต่ไม่ต้องห่วงครับ อีกไม่นานเราคงไม่ต้องมาใส่ใจอะไรเล็กๆ น้อยๆอย่างเรื่องแบตเตอรี่หมดไว ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในวงการมือถือในปัจจุบันนี้

Harold H. Kung ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและชีววิทยาแห่งคณะวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern ระบุในรายงานนิตยสาร Advanced Energy Materials ว่า "เราได้ค้นพบแนวทางการยืดอายุแบตเตอรี่ lithium-ion ใหม่เป็น 10 เท่า" และยังกล่าวต่อไปว่า "แม้ว่าหลังจากชาร์จ 150 ครั้ง ซึ่งหมายถึงกว่า 1 ปีหรือมากกว่านั้น แบตเตอรี่ยังคงมีประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ในตลาดปัจจุบันกว่า 5 เท่า"

ถ้าสามารถเพิ่มอายุการใช้งานแบตเตอรี่ดังกล่าวได้ถึง 10 เท่า นั้นหมายความว่า คุณจะไม่ต้องชาร์จมือถือเป็นสัปดาห์เลย และข่าวดีกว่านั้นคือ เวลาที่จะใช้ชาร์จสำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ ก็ใช้เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น!

ถ้าคุณยังอยากทราบเกี่ยวกับหลักการในการชาร์จแบตเตอรี่ ลองพิจารณาต่อทางนี้ครับ ในปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่เราใช้งานกันนั้น พลังงานไฟฟ้าเกิดจากปฏิกริยาเคมี ระหว่างปลายสองด้านของแบตเตอรี่ ได้แก่ขั้วแอโนด และแคโทด โดยเมื่อแบตเตอรี่ชาร์จจนเต็ม และเมื่อเกิดการใช้งาน ไอออนภายในแบตเตอรี่จะเคลื่อนที่จากขั้วแอโนด ไปยังแคโทด ผ่านอิเล็คโตรไลท์ จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ซึ่งเมื่อไอออนเคลื่อนที่ไปยังแคโทดจนหมด ทำให้แบตเตอรี่หมด
how_lithium_ion_battery_work
การชาร์จแบตเตอรี่เป็นการทำให้ไอออนไหลจากขั้วแคโทด สู่แอโนดนั่นเอง ทั้งนี้เทคโนโลยีในปัจจุบันยังจำกัดด้านความจุพลังงาน และยังมีอัตราการชาร์จที่ล่าช้า

ด้วยเทคโนโลยีขั้วไฟฟ้ารูปแบบใหม่จะช่วยขจัดปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเปลี่ยนขั้วแอโนดจากที่เคยใช้คาร์บอนที่มีอะตอมลิเธียมเพียงอะตอมเดียวต่อหกอะตอมคาร์บอนไปเป็นซิลิกอนที่มีอะตอมลิเธียมถึงสี่ตัว ต่อหนึ่งอะตอมซิลิกอน จึงใช้พื้นที่ลดลงแต่สามารถมีอะตอมลิเธียมเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือซิลิกอนขยายตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างการชาร์จ ทำให้แบตเตอรี่ไม่เสถียรและสูญเสียความสามารถในการชาร์จค่อนข้างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันทีมงานของศาสตราจารย์ Kung สามารถแก้ไขปัญหาด้านความเสถียรของซิลิกอนดังกล่าวได้แล้ว

คาดว่าเทคโนโลยีใหม่จากมหาวิทยาลัย Northwestern จะสามารถตีตลาดแบตเตอรี่ใหม่ภายใน 3 - 5 ปีนี้ครับ

lithium-ion

ที่มา: http://www.siamget.com/buyerguide/1812

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"กูเกิ้ลดูเดิ้ล" วันนี้ แด่ "มารี คูรี" สตรีนักวิทย์ดับเบิ้ลโนเบลไพรซ์


อย่าได้แปลกใจหากวันนี้คุณเปิดหน้าเว็บไซต์กูเกิ้ลแล้วพบว่า "กูเกิ้ล ดูเดิ้ล" วันนี้ปรากฏรูปหญิงสาวกำลังนั่งผสมสารเคมีอยู่บนโต๊ะทำงานของเธอ

ผู้หญิงในรูปดังกล่าวก็คือ มารี คูรี สตรีผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการวิทยาศาสตร์ ผู้ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 144 ปีที่แล้ว



โดยเมื่อสาวกเสิร์ชเอนจิ้นทั้งหลายคลิกไปยังไอคอนกูเกิ้ลดังกล่าวพวกเขาจะได้พบผลลัพธ์การค้นหาเป็นรายชื่อเว็บเพจต่างๆที่รวบรวมประวัติและผลงานของคูรีซึ่งหนึ่งในเว็บไซต์เหล่านี้นั้นรวมไปถึงอย่างวิกิพีเดียและเว็บไซต์ของรางวัลโนเบล(NobelPrize.org)

ทั้งนี้ มารี คูรี เป็นชาวโปแลนด์โดยกำเนิด เธอเป็นทั้งนักเคมีและฟิสิกส์ที่ได้รับชื่อเสียงจากการนำสารกัมมันตรังสีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง แม้ว่าสุดท้ายแล้วตัวเธอเองจะต้องเสียชีวิตจากโรคลูคีเมียหรือโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอันเนื่องมาจากการได้รับรังสีมากเกินไป

คูรีและปีแอร์คูรีสามีของเธอยังได้รับการยกย่องจากการเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมและโปโลเนียม(Polonium)ซึ่งชื่อ"โปโลเนียม"ดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์อันเป็นบ้านเกิดของเธอ การค้นพบดังกล่าวทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1903 ร่วมกับเฮนรี่  แบ็กเกอแรล ผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม

ต่อมาในปี ค.ศ. 1911 คูรีได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สองในสาขาเคมีจากผลงานการคิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากธาตุเรเดียม

อนึ่ง"กูเกิ้ลดูเดิ้ล"ได้รับความสนใจจากนักท่องเว็บในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้โดยกูเกิ้ลได้สร้างสรรค์"ดูเดิ้ล"เพื่อเฉลิมฉลองให้กับวาระสำคัญๆต่างๆในประวัติศาสตร์ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 เป็นต้นมา กูเกิ้ลได้สร้าง "ดูเดิ้ล" มากกว่า 900 ชิ้นแล้ว



ที่มา: matichononline วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 

สื่อตปท.เผยคนไทยแห่ใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์เป็นประวัติการณ์ เหตุ"สับสน"ข้อมูลน้ำท่วมรบ.




สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ว่า การใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์ได้ทะยานขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในเมืองไทย เนื่องจากคนไทยต้องการรับรู้ข่าวสารข้อมูล สาเหตุเนื่องจากความสับสนจากข้อมูลเกี่ยวกับภัยวิกฤตน้ำท่วมจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยขณะนี้คนไทยต่างโพสต์ถ่ายภาพน้ำท่วมผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊คและอินเตอร์เนทกลายเป็นเครื่องมืออัพเดทข่าวสารวิกฤตน้ำท่วมของคนไทยชนิดนาทีต่อนาที 

เอเอฟพีรายงานว่าเหตุการณ์ำน้ำท่วมในเมืองไทยที่ดำเนินไปแล้ว3เดือนทำให้มีผู้เสียชีวิต 440 คน เต็มไปด้วยข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและรัฐบาลกลางเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุดและวิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วมโดยดร.สมเกียรติอ่อนวิมลอดีตวุฒิสมาชิกไทยบอกว่า ขณะนี้ รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารจากคนไทยเกี่ยวกับวิกฤตน้ำท่วม ส่วนนายจอห์น รัสเซลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชี่ยล มีเดีย "The Next Web"บอกว่า ตอนนี้มีคนไทยจำนวนมากได้สร้างบล๊อกของตัวเองขึ้นมา รวมทั้งใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ กันอย่างมากมาย โดยอินเตอร์เนทกลายเป็นทุกสิ่งอย่างที่สำคัญในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่รวมรวบข่าวสารจากหลายแหล่งเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรและวิธีการแนะนำให้ผู้คนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม 

รายงานระบุว่าคนไทยได้ใช้ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น20%ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ที่มีคนใช้ 600,000 คน เป็น 720,000 คน ส่วนเฟซบุ๊คมีผู้เป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 18% ของประชากรทั้งหมด จากช่วงต้นปีที่มีผู้เป็นสมาชิก 7 ล้านคน นอกจากนี้ คำว่า"น้ำท่วม"ยังถูกเสิร์ชค้นหาเป็นจำนวนมากถึง 5 แสนครั้ง ส่วนอันดับสองคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 

ไม่เพียงเท่านั้น จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนทของไทย ยังเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในเว็บไซต์"ยูทิวบ์"ด้วย โดยท่ามกลางกระแสโจมตีว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะให้ข้อมูลอย่างง่ายๆ  แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วม ได้มีกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์จัดทำคลิปให้ความรู้ชื่อว่า"รูุ้สู้flood"ซึ่งมีคนมาเข้าชมกว่า 870,000 คน ภายในระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ 

ขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองยังใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์เพื่อพยายามแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาพยายามแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเช่นกันเช่นนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ชินวัตรและเหล่าที่ปรึกษา ที่ต่างก็ได้โพสต์เหตุการณ์เดินทางไปตรวจสอบสถานที่น้ำท่วมในเฟซบุ๊คด้วย 

แต่ดร.สมเกียรติบอกว่าตอนนี้สื่อมวลชนกลายเป็นทางเลือกดีที่สำหรับคนไทยเพราะต้องการข้อมูลที่มีรายละเอียดและเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ของพวกเขาว่าจะถูกน้ำท่วมหรือไม่้เช่นภาพระดับน้ำในคลองใกล้บ้าน

ที่มา: matichononline วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 

"โมบายออฟฟิศ-เอาต์ซอร์ซ" บทเรียนหลังน้ำท่วม

ไม่เฉพาะแต่บ้านเราที่เผชิญกับวิกฤตมหาอุทกภัย ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกต่างเคยประสบมาแล้ว แต่อาจหนักหนาและยืดเยื้อมากน้อยแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับวิธีการในการจัดการ 3 ปีที่แล้ว รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมนานเกือบเดือน ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ถ้วนหน้า หลายองค์กรจึงต้องค้นพบวิธีเอาตัวรอด

"เว็บไซต์บิสซิเนส 380" รายงานว่า หลายบริษัทในไอโอวายังคงตระหนักถึงปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา นอก จากจะเตรียมมาตรการป้องกันล่วงหน้าแล้ว ส่วนใหญ่ยังปรับกระบวนการทำ งานเพื่อให้บริษัทยังทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้เผชิญอุทกภัย

สื่อสารกันมากขึ้น

"ไดมอนด์ วี มิลส์" บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม หลังน้ำลดเพียงอาทิตย์เดียวก็ทั้งเฮดออฟฟิศ สำนักงานสาขาและโรงงานสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ เพราะหัวหน้าแผนก ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ และพนักงานมีการพบปะพูดคุยกันในแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิมมากหลังน้ำท่วม โดยมาตรการฟื้นฟูบริษัททั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างถูกแบ่งเป็นส่วนงานย่อย ๆ และมอบหมาย ให้แต่ละทีมไปจัดการ

"จอห์น บลูมฮอลล์" ซีอีโอไดมอนด์ วี มิลส์ เปิดเผยว่า ในช่วงนั้นพวกเขาประชุมเฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง เพื่อสื่อสาร ข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับงานย่อย ๆ แต่ละด้านว่าเดินหน้าไปถึงขั้นไหน และต้องปรับปรุงการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งพนักงานก็ตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเข้าใจหน้าที่และความต้องการของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งตระหนักดีว่า ยิ่งมีการสื่อสารข้อมูลภายในอย่างตรงไปตรงมา และมีความถี่มากแค่ไหนจะ ยิ่งช่วยให้บริษัทฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย

"เราพัฒนาการสื่อสารตั้งแต่ระดับทีมผู้บริหารไปจนถึงทีมการจัดการ ตอนนี้เรามีการประชุมทีมจัดการเฉลี่ยเดือนละครั้ง พูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายและกลยุทธ์ให้แต่ละแผนกตกลงกันว่า พวกเขาสะดวกจะเข้ามาประชุมแต่ละครั้งอย่างไร"

"จอห์น" เพิ่มเติมด้วยว่า วิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้บริษัทได้เรียนรู้ว่า การให้ความสำคัญกับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นอันดับแรกก่อให้เกิดผลดีกับองค์กรอย่างมาก โดยบริษัทได้ประกาศให้พนักงานที่บ้านได้รับผลกระทบดูแลความเป็นอยู่ของตนเองก่อน รวมถึงมีการช่วยเหลือด้วยการมีเงินสวัสดิการให้ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าความจำเป็นและความกังวลของพวกเขาได้รับการตอบรับจากองค์กร จึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริษัทกลับมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แต่พนักงาน "ไดมอนด์ วี มิลส์" ยังส่งอีเมล์อัพเดตข้อมูลไปยังลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับองค์กรโดยตรง โดยไม่หลงไปกับข้อมูลที่อาจคลาดเคลื่อนได้จากการรายงานของสื่อต่าง ๆ หากไม่ทำเช่นนั้น บริษัทอาจสูญเสียลูกค้าไปเป็นจำนวนไม่น้อย

เตรียมแผนฉุกเฉิน

นอกจากนี้ หลายบริษัทพูดตรงกันว่า ก่อนมีวิกฤตแต่ละบริษัทได้ระบุข้อบกพร่องและจุดอ่อนของบริษัทไว้ในแผนฉุกเฉิน เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่แผนล่วงหน้าที่ว่าไม่ต่างจากกระดาษที่โดนขยำลงถังขยะ เพราะไม่ได้เตรียมเผื่อไว้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำประปา, ท่อระบายน้ำหรือไฟฟ้าโดนตัด

"อินฟอร์เมติกส์" ผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์ 1 ในบริษัทที่ไม่โดนน้ำท่วม เปิดเผยว่า ออฟฟิศพวกเขาอยู่ชั้นบน ๆ ของตึก ในระหว่างน้ำท่วมได้ใช้เครื่องปั่นไฟ ทำให้บริการเว็บโฮสติ้งยังคงให้บริการต่อได้ ซึ่งถือเป็นบริษัทโฮสติ้งเพียงรายเดียวในแถบนั้นที่ยังทำให้เซิร์ฟเวอร์ของตนเองใช้งานได้ระหว่างน้ำท่วม 

"จอห์น โอซาโก" รองประธานฝ่ายพัฒนา "อินฟอร์เมติกส์" กล่าวว่า บริษัทน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ถ้าแผนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ไม่เน้นเฉพาะการรักษาอุปกรณ์ด้านไอที ทำให้ละเลยการกู้อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เอกสารกระดาษ เป็นต้น

โมบายออฟฟิศ-เอาต์ซอร์ซ

ฟาก "เฮนรี่ รัสเซลล์ บรู๊ซ" อีกบริษัทด้านการตลาดในรัฐไอโอวา ได้เปลี่ยนระบบการทำงานไปใช้คอมพิวเตอร์ พกพา และระบบการเชื่อมต่อแบบใหม่ หลังจากบริษัทต้องจมอยู่ใต้น้ำในปี 2551 "สตีฟ อีริคสัน" ประธาน บริษัท เฮนรี่ รัสเซลล์ บรู๊ซ เปิดเผยว่า ได้เปลี่ยนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะในองค์กรเป็นแล็ปทอปทั้งหมด เพื่อที่ว่าพนักงานของเขาจะได้พกพาคอมพิวเตอร์ประจำตัวติดตัวไปไหนต่อไหนได้ หากบริษัท ต้องประสบกับอุทกภัยอีกครั้ง ก็ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไปว่าจะทำงานไม่ได้ เพราะหยิบแล็ปทอปหนีน้ำไปทำงานที่อื่นได้ทันที 

นอกจากนี้ บริษัทยังเปลี่ยนระบบ ไอทีภายในองค์กร จากเดิมใช้เซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลที่ตั้งอยู่ในออฟฟิศ มาเป็นการใช้เซิร์ฟเวอร์ทางไกลที่มีศูนย์เก็บข้อมูลอยู่ห่างออกไปแทน รวมถึงลดปริมาณการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ หันมา สแกนเอกสารให้เป็นไฟล์พีดีเอฟและบรรจุไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทางไกล 

"การปรับเปลี่ยนระบบและวิธีการทำงานภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้บริษัทประหยัดไปได้มาก ยังมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น มีการเอาต์ซอร์ซงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วย" สตีฟย้ำ

ด้าน "แอ็คเม กราฟฟิก" บริษัทรับพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 97 ปี ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นทำงานแบบรวมศูนย์ โดยทุกอย่างอยู่ที่สำนักงานเพียงแห่งเดียว แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ บริษัทแห่งนี้เปลี่ยนความคิดในการจัดการธุรกิจไปสิ้นเชิง โดย "เอ็มเม็ต เชอร์แมน" ประธาน "แอ็คเม กราฟฟิก" เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจที่จะเช่าห้องพิมพ์อื่น ๆ ที่มีสมรรถภาพการพิมพ์ใกล้เคียงกับของบริษัทเพื่อให้รับช่วงการทำงาน จากเดิมก่อนน้ำท่วม บริษัทต้องการยำทุกอย่างเข้ามาอยู่กับที่เดียวและทำงานกันเองทั้งหมด แต่หลังน้ำท่วมพบว่า นั่นอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีเท่าไร เพราะเครื่องพิมพ์แม้แต่มือสองหากเสียหายไปอาจมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนเหรียญ

"การเอาต์ซอร์ซงานช่วยบรรเทาความกังวลให้กับลูกค้าของบริษัทที่มีออร์เดอร์การพิมพ์เป็นจำนวนมาก ๆ เพราะบริษัทเหล่านี้มักต้องการให้ โรงพิมพ์เก็บสิ่งพิมพ์สำรองเอาไว้จนกว่าจะได้นำไปใช้จริง ดังนั้น การเอาต์ซอร์ซงานจึงช่วยลดปัญหาน้ำท่วมคลังเก็บ สิ่งพิมพ์ของพวกเขาได้ด้วย"

สิ่งสำคัญที่องค์กรหลายแห่งได้เรียนรู้จากเหตุการณ์น้ำท่วมไอโอวา เมื่อปี 2551 คือการทำให้ออฟฟิศขนย้ายสินทรัพย์สำคัญ ๆ ได้รวดเร็วมีความสำคัญมาก 

"มาร์ก มิลท์เนอร์" ผู้บริโภค บริษัท สเลท เชค กล่าวว่า เขาใส่อุปกรณ์ด้านพลังงานไว้ในลิ้นชักที่สามารถหยิบและเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกในกรณีน้ำท่วม เช่นกันกับ "โอพีเอ็น อาร์คิเทค" ได้นำเอกสารแบบแปลนการก่อสร้างใส่ในกล่องพลาสติก ซึ่งบรรจุอยู่ในรถเข็นอีกที เพื่อให้สามารถขนออกจากออฟฟิศได้ง่ายหากเกิดน้ำท่วม

หาให้เจอว่าใครดูแลคุณ

บทเรียนอีกข้อที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้รับจากน้ำท่วม คือเรื่อง "เวนเดอร์" หลายคนต้องมาประเมินความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทตนกับเวนเดอร์ของตนเองเสียใหม่ เนื่องจากเวนเดอร์บางรายให้ความสนใจแค่ว่า ลูกค้าจะมีเงินจ่ายค่าของให้หลังน้ำท่วมหรือเปล่า ขณะที่เวนเดอร์บางส่วนกังวลเรื่องกิจการและผลประกอบการของลูกค้าว่าจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่

"อัล เพียสัน" เจ้าของร้านดอกไม้ "เพียร์สันส์ ฟลาวเวอร์ ช็อป แอนด์ กรีนเฮาส์" กล่าวว่า "ตัวแทนจากบริษัทในแคลิฟอร์เนียที่ขายพันธุ์พืชให้ที่ร้านเดินทางมาหาหลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายได้ 1-2 เดือน เมื่อมาถึงตัวแทนรายนั้นมองไปรอบ ๆ ร้านเพื่อตรวจดูความเสียหายแล้วเริ่มเขียนบิลค่าพันธุ์พืชชุดใหญ่ ขณะที่คนอื่นพูดกับเราว่า "ผมรู้ว่าคุณได้รับความเสียหาย จ่ายเงินให้เราปีหน้าก็ได้นะ"



ที่มา: http://www.prachachat.net วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554

ประเทศในเอเชียเป็นแหล่งแพร่"ข้อความขยะ"มากที่สุดในโลก




เว็บไซต์โซฟอส ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เผยว่า ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่แพร่ข้อความขยะ (สแปม) มากที่สุดในโลก คิดเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และมากกว่าสหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศต้นทาง

ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายประเทศ พบว่าสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีอัตราการส่งข้อความขยะมากที่สุดถึงร้อยละ 11.3 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ที่ร้อยละ 9.6 อินเดีย 8.8 รัสเซียและบราซิล ในอัตราร้อยละ 7.9 และ 5.7 ตามลำดับ

โดยอันดับ 6 ตกเป็นของไต้หวัน ร้อยละ 3.8 เวียดนาม 3.5 อินโดนีเซีย 3.3 ยูเครน 3.1 โรมาเนีย 2.8 ปากีสถาน 2.0 และอิตาลีในอันดับ 10 ที่ร้อยละ 1.9

โซฟอสระบุในรายงานไตรมาส 3 ปี 2554 ว่า สัดส่วนของสแปมที่มีต้นกำเนิดจากเอเชียมีมากถึงร้อยละ 50.1 ของสแปมทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 35.1 ในไตรมาส 3 ของปีก่อน ตามมาด้วยยุโรปที่ร้อยละ 21.4 และอเมริกาเหนือที่ร้อยละ 14.2

แม้สหรัฐฯยังคงครองตำแหน่งประเทศที่ส่งสแปมมากที่สุดในโลก แต่ประเทศในเอเชียส่งสแปมรวมกันมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคนในเอเชียออนไลน์มากขึ้น แต่กลับไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันคอมพิวเตอร์ไม่ให้ได้รับสแปม ซึ่งเกิดจากการใช้บอตเน็ตอย่างแพร่หลาย

สแปมที่เข้าไปก่อกวนบัญชีอีเมลของผู้ใช้มีตั้งแต่โฆษณาน่ารำคาญไปจนถึงการโจมตีคอมพิวเตอร์อย่างร้ายแรง กรณีที่ร้ายที่สุดสแปมอาจทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ติดไวรัสโทรจันหรือเข้าไปขโมยข้อมูลบัญชีการเงิน

ที่มา: matichononline วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554