วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สื่อตปท.เผยคนไทยแห่ใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์เป็นประวัติการณ์ เหตุ"สับสน"ข้อมูลน้ำท่วมรบ.




สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ว่า การใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์ได้ทะยานขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในเมืองไทย เนื่องจากคนไทยต้องการรับรู้ข่าวสารข้อมูล สาเหตุเนื่องจากความสับสนจากข้อมูลเกี่ยวกับภัยวิกฤตน้ำท่วมจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยขณะนี้คนไทยต่างโพสต์ถ่ายภาพน้ำท่วมผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊คและอินเตอร์เนทกลายเป็นเครื่องมืออัพเดทข่าวสารวิกฤตน้ำท่วมของคนไทยชนิดนาทีต่อนาที 

เอเอฟพีรายงานว่าเหตุการณ์ำน้ำท่วมในเมืองไทยที่ดำเนินไปแล้ว3เดือนทำให้มีผู้เสียชีวิต 440 คน เต็มไปด้วยข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและรัฐบาลกลางเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุดและวิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วมโดยดร.สมเกียรติอ่อนวิมลอดีตวุฒิสมาชิกไทยบอกว่า ขณะนี้ รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารจากคนไทยเกี่ยวกับวิกฤตน้ำท่วม ส่วนนายจอห์น รัสเซลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชี่ยล มีเดีย "The Next Web"บอกว่า ตอนนี้มีคนไทยจำนวนมากได้สร้างบล๊อกของตัวเองขึ้นมา รวมทั้งใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ กันอย่างมากมาย โดยอินเตอร์เนทกลายเป็นทุกสิ่งอย่างที่สำคัญในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่รวมรวบข่าวสารจากหลายแหล่งเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรและวิธีการแนะนำให้ผู้คนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม 

รายงานระบุว่าคนไทยได้ใช้ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น20%ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ที่มีคนใช้ 600,000 คน เป็น 720,000 คน ส่วนเฟซบุ๊คมีผู้เป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 18% ของประชากรทั้งหมด จากช่วงต้นปีที่มีผู้เป็นสมาชิก 7 ล้านคน นอกจากนี้ คำว่า"น้ำท่วม"ยังถูกเสิร์ชค้นหาเป็นจำนวนมากถึง 5 แสนครั้ง ส่วนอันดับสองคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 

ไม่เพียงเท่านั้น จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนทของไทย ยังเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในเว็บไซต์"ยูทิวบ์"ด้วย โดยท่ามกลางกระแสโจมตีว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะให้ข้อมูลอย่างง่ายๆ  แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วม ได้มีกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์จัดทำคลิปให้ความรู้ชื่อว่า"รูุ้สู้flood"ซึ่งมีคนมาเข้าชมกว่า 870,000 คน ภายในระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ 

ขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองยังใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์เพื่อพยายามแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาพยายามแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเช่นกันเช่นนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ชินวัตรและเหล่าที่ปรึกษา ที่ต่างก็ได้โพสต์เหตุการณ์เดินทางไปตรวจสอบสถานที่น้ำท่วมในเฟซบุ๊คด้วย 

แต่ดร.สมเกียรติบอกว่าตอนนี้สื่อมวลชนกลายเป็นทางเลือกดีที่สำหรับคนไทยเพราะต้องการข้อมูลที่มีรายละเอียดและเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ของพวกเขาว่าจะถูกน้ำท่วมหรือไม่้เช่นภาพระดับน้ำในคลองใกล้บ้าน

ที่มา: matichononline วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554