วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"โมบายออฟฟิศ-เอาต์ซอร์ซ" บทเรียนหลังน้ำท่วม

ไม่เฉพาะแต่บ้านเราที่เผชิญกับวิกฤตมหาอุทกภัย ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกต่างเคยประสบมาแล้ว แต่อาจหนักหนาและยืดเยื้อมากน้อยแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับวิธีการในการจัดการ 3 ปีที่แล้ว รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมนานเกือบเดือน ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ถ้วนหน้า หลายองค์กรจึงต้องค้นพบวิธีเอาตัวรอด

"เว็บไซต์บิสซิเนส 380" รายงานว่า หลายบริษัทในไอโอวายังคงตระหนักถึงปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา นอก จากจะเตรียมมาตรการป้องกันล่วงหน้าแล้ว ส่วนใหญ่ยังปรับกระบวนการทำ งานเพื่อให้บริษัทยังทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้เผชิญอุทกภัย

สื่อสารกันมากขึ้น

"ไดมอนด์ วี มิลส์" บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม หลังน้ำลดเพียงอาทิตย์เดียวก็ทั้งเฮดออฟฟิศ สำนักงานสาขาและโรงงานสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ เพราะหัวหน้าแผนก ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ และพนักงานมีการพบปะพูดคุยกันในแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิมมากหลังน้ำท่วม โดยมาตรการฟื้นฟูบริษัททั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างถูกแบ่งเป็นส่วนงานย่อย ๆ และมอบหมาย ให้แต่ละทีมไปจัดการ

"จอห์น บลูมฮอลล์" ซีอีโอไดมอนด์ วี มิลส์ เปิดเผยว่า ในช่วงนั้นพวกเขาประชุมเฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง เพื่อสื่อสาร ข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับงานย่อย ๆ แต่ละด้านว่าเดินหน้าไปถึงขั้นไหน และต้องปรับปรุงการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งพนักงานก็ตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเข้าใจหน้าที่และความต้องการของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งตระหนักดีว่า ยิ่งมีการสื่อสารข้อมูลภายในอย่างตรงไปตรงมา และมีความถี่มากแค่ไหนจะ ยิ่งช่วยให้บริษัทฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย

"เราพัฒนาการสื่อสารตั้งแต่ระดับทีมผู้บริหารไปจนถึงทีมการจัดการ ตอนนี้เรามีการประชุมทีมจัดการเฉลี่ยเดือนละครั้ง พูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายและกลยุทธ์ให้แต่ละแผนกตกลงกันว่า พวกเขาสะดวกจะเข้ามาประชุมแต่ละครั้งอย่างไร"

"จอห์น" เพิ่มเติมด้วยว่า วิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้บริษัทได้เรียนรู้ว่า การให้ความสำคัญกับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นอันดับแรกก่อให้เกิดผลดีกับองค์กรอย่างมาก โดยบริษัทได้ประกาศให้พนักงานที่บ้านได้รับผลกระทบดูแลความเป็นอยู่ของตนเองก่อน รวมถึงมีการช่วยเหลือด้วยการมีเงินสวัสดิการให้ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าความจำเป็นและความกังวลของพวกเขาได้รับการตอบรับจากองค์กร จึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริษัทกลับมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แต่พนักงาน "ไดมอนด์ วี มิลส์" ยังส่งอีเมล์อัพเดตข้อมูลไปยังลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับองค์กรโดยตรง โดยไม่หลงไปกับข้อมูลที่อาจคลาดเคลื่อนได้จากการรายงานของสื่อต่าง ๆ หากไม่ทำเช่นนั้น บริษัทอาจสูญเสียลูกค้าไปเป็นจำนวนไม่น้อย

เตรียมแผนฉุกเฉิน

นอกจากนี้ หลายบริษัทพูดตรงกันว่า ก่อนมีวิกฤตแต่ละบริษัทได้ระบุข้อบกพร่องและจุดอ่อนของบริษัทไว้ในแผนฉุกเฉิน เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่แผนล่วงหน้าที่ว่าไม่ต่างจากกระดาษที่โดนขยำลงถังขยะ เพราะไม่ได้เตรียมเผื่อไว้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำประปา, ท่อระบายน้ำหรือไฟฟ้าโดนตัด

"อินฟอร์เมติกส์" ผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์ 1 ในบริษัทที่ไม่โดนน้ำท่วม เปิดเผยว่า ออฟฟิศพวกเขาอยู่ชั้นบน ๆ ของตึก ในระหว่างน้ำท่วมได้ใช้เครื่องปั่นไฟ ทำให้บริการเว็บโฮสติ้งยังคงให้บริการต่อได้ ซึ่งถือเป็นบริษัทโฮสติ้งเพียงรายเดียวในแถบนั้นที่ยังทำให้เซิร์ฟเวอร์ของตนเองใช้งานได้ระหว่างน้ำท่วม 

"จอห์น โอซาโก" รองประธานฝ่ายพัฒนา "อินฟอร์เมติกส์" กล่าวว่า บริษัทน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ถ้าแผนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ไม่เน้นเฉพาะการรักษาอุปกรณ์ด้านไอที ทำให้ละเลยการกู้อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เอกสารกระดาษ เป็นต้น

โมบายออฟฟิศ-เอาต์ซอร์ซ

ฟาก "เฮนรี่ รัสเซลล์ บรู๊ซ" อีกบริษัทด้านการตลาดในรัฐไอโอวา ได้เปลี่ยนระบบการทำงานไปใช้คอมพิวเตอร์ พกพา และระบบการเชื่อมต่อแบบใหม่ หลังจากบริษัทต้องจมอยู่ใต้น้ำในปี 2551 "สตีฟ อีริคสัน" ประธาน บริษัท เฮนรี่ รัสเซลล์ บรู๊ซ เปิดเผยว่า ได้เปลี่ยนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะในองค์กรเป็นแล็ปทอปทั้งหมด เพื่อที่ว่าพนักงานของเขาจะได้พกพาคอมพิวเตอร์ประจำตัวติดตัวไปไหนต่อไหนได้ หากบริษัท ต้องประสบกับอุทกภัยอีกครั้ง ก็ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไปว่าจะทำงานไม่ได้ เพราะหยิบแล็ปทอปหนีน้ำไปทำงานที่อื่นได้ทันที 

นอกจากนี้ บริษัทยังเปลี่ยนระบบ ไอทีภายในองค์กร จากเดิมใช้เซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลที่ตั้งอยู่ในออฟฟิศ มาเป็นการใช้เซิร์ฟเวอร์ทางไกลที่มีศูนย์เก็บข้อมูลอยู่ห่างออกไปแทน รวมถึงลดปริมาณการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ หันมา สแกนเอกสารให้เป็นไฟล์พีดีเอฟและบรรจุไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทางไกล 

"การปรับเปลี่ยนระบบและวิธีการทำงานภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้บริษัทประหยัดไปได้มาก ยังมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น มีการเอาต์ซอร์ซงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วย" สตีฟย้ำ

ด้าน "แอ็คเม กราฟฟิก" บริษัทรับพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 97 ปี ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นทำงานแบบรวมศูนย์ โดยทุกอย่างอยู่ที่สำนักงานเพียงแห่งเดียว แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ บริษัทแห่งนี้เปลี่ยนความคิดในการจัดการธุรกิจไปสิ้นเชิง โดย "เอ็มเม็ต เชอร์แมน" ประธาน "แอ็คเม กราฟฟิก" เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจที่จะเช่าห้องพิมพ์อื่น ๆ ที่มีสมรรถภาพการพิมพ์ใกล้เคียงกับของบริษัทเพื่อให้รับช่วงการทำงาน จากเดิมก่อนน้ำท่วม บริษัทต้องการยำทุกอย่างเข้ามาอยู่กับที่เดียวและทำงานกันเองทั้งหมด แต่หลังน้ำท่วมพบว่า นั่นอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีเท่าไร เพราะเครื่องพิมพ์แม้แต่มือสองหากเสียหายไปอาจมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนเหรียญ

"การเอาต์ซอร์ซงานช่วยบรรเทาความกังวลให้กับลูกค้าของบริษัทที่มีออร์เดอร์การพิมพ์เป็นจำนวนมาก ๆ เพราะบริษัทเหล่านี้มักต้องการให้ โรงพิมพ์เก็บสิ่งพิมพ์สำรองเอาไว้จนกว่าจะได้นำไปใช้จริง ดังนั้น การเอาต์ซอร์ซงานจึงช่วยลดปัญหาน้ำท่วมคลังเก็บ สิ่งพิมพ์ของพวกเขาได้ด้วย"

สิ่งสำคัญที่องค์กรหลายแห่งได้เรียนรู้จากเหตุการณ์น้ำท่วมไอโอวา เมื่อปี 2551 คือการทำให้ออฟฟิศขนย้ายสินทรัพย์สำคัญ ๆ ได้รวดเร็วมีความสำคัญมาก 

"มาร์ก มิลท์เนอร์" ผู้บริโภค บริษัท สเลท เชค กล่าวว่า เขาใส่อุปกรณ์ด้านพลังงานไว้ในลิ้นชักที่สามารถหยิบและเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกในกรณีน้ำท่วม เช่นกันกับ "โอพีเอ็น อาร์คิเทค" ได้นำเอกสารแบบแปลนการก่อสร้างใส่ในกล่องพลาสติก ซึ่งบรรจุอยู่ในรถเข็นอีกที เพื่อให้สามารถขนออกจากออฟฟิศได้ง่ายหากเกิดน้ำท่วม

หาให้เจอว่าใครดูแลคุณ

บทเรียนอีกข้อที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้รับจากน้ำท่วม คือเรื่อง "เวนเดอร์" หลายคนต้องมาประเมินความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทตนกับเวนเดอร์ของตนเองเสียใหม่ เนื่องจากเวนเดอร์บางรายให้ความสนใจแค่ว่า ลูกค้าจะมีเงินจ่ายค่าของให้หลังน้ำท่วมหรือเปล่า ขณะที่เวนเดอร์บางส่วนกังวลเรื่องกิจการและผลประกอบการของลูกค้าว่าจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่

"อัล เพียสัน" เจ้าของร้านดอกไม้ "เพียร์สันส์ ฟลาวเวอร์ ช็อป แอนด์ กรีนเฮาส์" กล่าวว่า "ตัวแทนจากบริษัทในแคลิฟอร์เนียที่ขายพันธุ์พืชให้ที่ร้านเดินทางมาหาหลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายได้ 1-2 เดือน เมื่อมาถึงตัวแทนรายนั้นมองไปรอบ ๆ ร้านเพื่อตรวจดูความเสียหายแล้วเริ่มเขียนบิลค่าพันธุ์พืชชุดใหญ่ ขณะที่คนอื่นพูดกับเราว่า "ผมรู้ว่าคุณได้รับความเสียหาย จ่ายเงินให้เราปีหน้าก็ได้นะ"



ที่มา: http://www.prachachat.net วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554