วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระทรวงฯ ไอซีที เดินหน้าอบรม พรบ.คอม50

ก.ไอซีที เดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



ก.ไอซีที เดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
            นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าวการจัดอบรมโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550” ว่า ภายหลังจากที่กระทรวงฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับ 5 สถาบันการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในกฎหมายฉบับนี้  ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างถูกต้องไปตั้งแต่ปี 2552 และได้มีการจัดประชุมทางวิชาการในเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ที่จะนำไปเผยแพร่ต่อประชาชนในทุกภาคส่วนให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวนทั้งสิ้น 302  คน มีการประเมินผลการอบรมดังกล่าวไว้ในระดับดีมาก
           “การจัดอบรมโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ครั้งแรกนั้น ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี และมีผู้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมการอบรมฯ มากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ คือ 250 คน ดังนั้น ในปีนี้ กระทรวงฯ จึงจะจัดการฝึกอบรมขึ้นอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2554 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ วิทยากรขององค์กรต่างๆ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 250 คน เพื่อให้เป็นผู้แทนไปเผยแพร่แก่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งการอบรมจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การอบรมภาคทฤษฎี และการอบรมภาคปฏิบัติ” นายธานีรัตน์ กล่าว
           สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกริก วิทยาลัยทองสุข มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมทั้งได้มีภาคประชาชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมโครงการฯ ในลักษณะของอาสาสมัครภาคประชาชน คือ องค์การความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต             “การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ที่ต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอันเนื่องจากการไม่รู้ ไม่เข้าใจในกฎหมาย  นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีหน้าที่ในการขยายเครือข่ายภาคีความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ ให้แก่ประชาชนไปในวงกว้างและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีกระทรวงฯ เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนในการขยายเครือข่ายดังกล่าว อันจะนำมาซึ่งความมั่นคง ปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ และถ้าประชาชนมีความมั่นใจในการใช้อินเทอร์เน็ตก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อีกมากมายมหาศาล” นายธานีรัตน์ กล่าว