วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ญาณพล ยั่งยืน" ชี้พรบ.คอมฯใหม่ต้องมีบรรทัดฐานกม.ชัดเจน


พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ต้องมีบรรทัดฐานกฎหมายชัดเจน เชื่อใกล้คลอดแล้ว ไม่เกินปี 55 หลังอุ้มท้องมานาน มั่นใจไม่นาน 9 ปี อย่างพ.ร.บ.คอมฯ 2550…

หลังจากสวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สร้างความแปลกใจให้มิใช่น้อย เพราะตัวเลขการรับรู้ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 มีเพียง 0.98% หรือเรียกว่า ยังไม่ถึง 1% ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับดังกล่าว ใช้เวลานานถึง 9 ปี กว่าจะคลอดออกมาได้



ผศ.ดร.พรรณี สวนเพลง

ผศ.ดร.พรรณี สวนเพลง ประธานคณะทำงานโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ. คอมฯ 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมฯ 2550 กับประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เป็นประจำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 409 คน โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 24–30 พ.ค. พบว่า ประชาชนมีความรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. เป็นอย่างดีเพียงแค่ 0.98% พอรับรู้บ้าง 33.01 % ไม่ค่อยรู้ 49.14 % และไม่มีการรับรู้เลย 16.87% 2.การกำกับดูแล พ.ร.บ.ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงไอซีที 55.72% ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค 33.82% กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 4.87% และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.14 %

ขณะที่ ประชาชน 74.33% ทราบว่า พ.ร.บ.คอมฯ 2550 มีขึ้นเพื่อป้องกันการใช้คอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล ส่วนราชการ ยังมีส่วนที่ไม่ทราบดังกล่าว 25. 67% ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ ว่าถ้าหากเกิดการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจะถูกลงโทษ 26. 65% การโฟสข้อความกล่าวร้าย หรือ การนำข้อมูลของผู้อื่นไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหาย 17. 42% การเปิดสื่อลามกอนาจาร หรือการโพสต์รูปลามกอนาจารมีความผิด 15.81% การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว 12.58% หากนำข้อมูลของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ระบุแหล่งที่มาอาจจะเข้าค่ายความผิด 8.39% และอีก 29.54% เป็นการนำไวรัสไปปล่อยในอินเทอร์เน็ต การโจรกรรมข้อมูล และการโฆษณาเกินจริง


อีกทั้ง ประชาชนทราบเกี่ยวกับการเฝ้าระวังไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ในการใช้คอมพิวเตอร์ 74.33% และไม่ทราบเรื่องดังกล่าวอีก 25.67% ประชาชน ทราบว่า การให้ข้อมูลกับผู้อื่นเพื่อเข้าใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ต และหากผู้อื่นนำไปกระทำความผิดจะได้รับความผิดไปด้วย ถึง 70.17% และไม่ทราบเรื่องดังกล่าวอีก 29.83 % ประชาชาชนทราบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 68.22% และไม่ทราบ 29.83% ประชาชนคิดว่า พ.ร.บ.คอมฯ มีความจำเป็นต่อการทำงาน 58.44% และเห็นว่าไม่มีความจำเป็น 41.56%

ขณะที่ ประชาชนไม่เคยประสบปัญหาจากการละเมิด หรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 90.95% ไม่เคย 7.82% ประชาชนเห็นว่า พ.ร.บ. คอมฯ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการละเมิด หรือการกระทำความผิดได้บ้าง 65.28% ช่วยแก้ไขได้มาก 16.87% ช่วยไม่ค่อยได้ 12.71% และช่วยไม่ได้เลย 3.67% ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พรบ.คอมฯ 91.93% ได้รับผลกระทบ 6.11% และ ประชาชนสนใจ ที่จะเป็นอาสาเฝ้าระวังการกระทำความผิด 29.58% ไม่สนใจ 69.19%

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ ปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ในส่วนของการจับกุม คือ ไม่มีการเก็บรายงาน ส่วนเหตุผลที่ไม่มีการเก็บรายงาน มองว่าอาจจะเกิดจากความไม่รู้ ไม่มีงบประมาณ และไม่ให้ความสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรคำนึง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของการจับกุม เพราะหากไม่มีบันทึกข้อมูล หรือล็อกไฟล์ไว้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

ส่วนกรณีที่ พ.ร.บ.คอมฯ ถูกดึงเข้าสู่การเมืองนั้น รองอธิบดีดีเอสไอ ชี้แจงว่า ใช้เป็นเครื่องมือไม่ได้ เพราะยังไม่มีอำนาจมากพอในการจัดการบางกรณี นอกจากนี้ ยังแนะนำว่า ผู้ให้เช่าใช้อินเทอร์เน็ตควรให้ผู้มาใช้บริการอินเทอร์เน็ต ลงรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว เพื่อการติดตามรอย หากเกิดเรื่องขึ้น เหมือนอย่างที่เวลามีคนยืมรถที่ต้องจดรายละเอียด ไม่ใช่ให้กุญแจไปอย่างเดียว

พ.ต.อ.ญาณพล ชี้แจงต่อว่า สิ่งที่ยังขาด ใน พ.ร.บ.คอมฯ คือ ควรมีบรรทัดฐานเดียว นั่นคือ กฎหมาย หากใครทำผิดควรได้รับการติดตามข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ให้เป็ในทิศทางเดียวกัน ส่วนสิ่งที่อยากแก้ไข คือ ให้พนักงานสอบสวนควรมีสิทธิ์เลือกใช้ได้เวลามีผู้กระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ โดยหวังว่าจะได้เห็นในพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่นี้

“ความผิดที่มีโทษทางอาญา และใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องประกอบ หรือเกี่ยวข้องแล้ว การกระทำใดที่ทำ ถ้าตำรวจจะทำอะไรที่มีคอมพิวเตอร์เป็นของกลาง สามารถเลือกใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ได้ เช่น เว็บไซต์มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ขายของปลอม แล้วมีการยึดเครื่องนั้นไป เซิร์ฟเตอร์ เวอร์นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเว็บอื่น แต่มีอีกหลายเว็บที่อยู่ด้วย ถามว่าเว็บนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วย ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับเก่าเป็นอยู่ เพราะหลักฐานจริงๆ ต้องการข้อมูลในเครื่อง แต่ไม่ได้ต้องการเซิร์ฟเวอร์” รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ญาณพล ทิ้งท้ายด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ใช้เวลาอีกไม่มาก เหมือนฉบับแรก เพราะเดิมคิดว่าสังคมยังไม่ยอมรับเรื่องคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยให้ผ่านไปก่อน แล้วมาปรับ ส่วน พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่นี้ คาดการณ์ว่าน่าจะเห็นภายใต้จุดกึ่งกลางของมาตรการที่เหมาะสม อีกทั้งถ้าการร่างฯ คำนึงถึงเทคโนโลยี สิทธิเสรีภาพ การปราบปราม ยังมีอีกหลายประเด็นที่หลุดรอด ภายในปี 2555 หรือปีหน้านั่นเอง


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 13 มิ.ย. 54