วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แทบเล็ต "เพื่อไทย" ต้องมองไกลหลักสูตร-ครู



ทันทีที่เพื่อไทยขึ้นแท่นเป็นว่าที่รัฐบาลใหม่หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้โผครม.คือการย้อนกลับมาดูนโยบายที่พรรคได้ใช้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้

สแกนกันรายข้อแล้ว มีนโยบายที่กระทบกับอุตสาหกรรมไอทีชัดเจนที่สุด คือ การแจกแทบเล็ตให้แก่เด็ก ป.1 ทุกคน เพื่อใช้ในการศึกษ

นายสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะแวลลู ซิสเตมส์ จำกัด กล่าวว่า ยังไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในตอนนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ตั้ง ยังไม่ทราบว่าใครจะมานั่งกระทรวงใด แต่ในมุมของพ่อค้านักธุรกิจเห็นว่านโยบายแจกแทบเล็ตแก่เด็ก
นักเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะนักเรียนจะประหยัดค่าหนังสือไปได้มาก ถ้านำแทบเล็ตนั้นมาดาวน์โหลดหนังสือเรียนอ่าน 3-54 หมื่นเครื่อง ดังนั้น นอกจากฮาร์ดแวร์แล้ว ต้องคำนึงถึงซอฟต์แวร์และคอนเทนท์ที่จะนำมาใช้ร่วมด้วย
ส่วนราคาเครื่องระดับ 3-5 พันบาท หากมีปริมาณซื้อจำนวนมากๆ ระดับแสนเครื่องก็ไม่ใช่ปัญหา จะสามารถหาเครื่องที่มีคุณสมบัติที่ดีได้ ยิ่งหากตัดคุณสมบัติด้านโทรศัพท์ออกไป ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไวไฟ ต้องทำราคาได้แน่
ทั้งนี้ แบรนด์ที่สามารถจะลงแข่งขันได้ เช่น เลอโนโว ซัมซุง เอชพี หรือโตชิบา ล้วนน่าจับตามอง ยกเว้นแอ๊ปเปิ้ลที่คงจะไม่ลงมาเล่นตลาดนี้
แนะรัฐอย่ายึดติดแค่ "แทบเล็ต"
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการไอทีนโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กตั้งแต่ ประถม 1 ได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์ประมวลผลเพื่อการศึกษา
"ไหนๆ จะเสียเงินแล้วรัฐก็ไม่ควรจำกัดแค่เครื่องราคาไม่กี่พันบาท ซึ่งอาจจะไม่ได้คุณสมบัติที่เหมาะจะใช้เรียนรู้อย่างแท้จริง แต่เมื่อรัฐสัญญาว่าจะต้องเป็นแทบเล็ตก็มีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็ควรต้องมองอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเน็ตบุ๊ค หรือแทบเล็ต เพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องขึ้นไปอีก" นายเอกรัศมิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามรัฐไม่ควรยึดติดว่าจะต้องสนับสนุนให้เด็ก ป.1 ต้องใช้แทบเล็ตเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือพื้นฐานที่เน้นหนักกับการใช้งานคอนเทนท์มากกว่าจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ หรือสร้างคอนเทนท์ได้ด้วยตัวเอง แต่ยังมีอุปกรณ์ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กอีกหลายประเภท เช่น เน็ตบุ๊ค และโน้ตบุ๊คที่มีแป้นพิมพ์ และเอื้อต่อการใช้งานเพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป
ผู้บริหารอินเทลแนะว่า รัฐไม่ควรจำกัดงบซื้ออุปกรณ์แค่ 3-5 พันบาท หากยังคงเดินหน้านโยบายนี้ควรแบ่งเป็นเฟส เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของงบประมาณ และการตัดสเปคสำคัญของเครื่องออกเพื่อให้ได้ราคาตามที่ต้องการ เนื่องจากความพร้อมของโรงเรียนที่จะสอนให้เด็กใช้แทบเล็ตเพื่อเรียนรู้ก็แตกต่างกัน ดังนั้นการกระจายเครื่องโดยแบ่งเป็นเฟสให้กับโรงเรียนที่พร้อมก่อนน่าจะเป็นทางออกที่ดี และทำให้รัฐสามารถทยอยการลงทุนได้
พัฒนาครู-หลักสูตร-เครือข่าย
นายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสวีโอเอ กล่าวว่า สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาให้มากที่สุด แต่รัฐบาลต้องคิดให้กว้างกว่าฮาร์ดแวร์ ไม่ยึดติดกับแทบเล็ตเท่านั้น ควรใช้จังหวะนี้พัฒนาพีเพิ่ลแวร์ ยกระดับคุณภาพ กระตุ้นครูให้เรียนรู้ เพิ่มทักษะและความรู้ นำไปสู่การเพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้น ควบคู่คอร์สแวร์ การพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม ซึ่งการพัฒนาทั้งสองสิ่งดังกล่าวน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีจากนั้นจะทราบผลว่า ควรใช้ฮาร์ดแวร์อะไร ขณะเดียวกันต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงข่ายไว้รองรับ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาต้องไปทั่วประเทศ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม
ทั้งนี้ คุณสมบัติฮาร์ดแวร์ที่จะนำมาใช้ ถึงเป็นแทบเล็ตแต่ระดับชั้นที่เปลี่ยนไป สเปคเครื่องก็ต้องเปลี่ยนด้วย ระดับ ป.1 มัธยม และมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้สเปคเดียวกันเพราะรองรับหลักสูตรต่างกัน
"ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองด้วย เชื่อว่า หากไม่ได้แจกแทบเล็ตในปีแรก ประชาชนก็ต้องเข้าใจ หากเริ่มต้นพัฒนาพีเพิ่ลแวร์ คอร์สแวร์ และอินฟราสตรัคเจอร์ ก็ถือว่าได้เริ่มทำแล้ว" นายวีระ กล่าว
พร้อมกันนี้ เขาระบุว่า ในส่วนของภาคเอกชนก็ได้ประโยชน์จากโครงการ ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ไอทีมากขึ้น มีโอกาสขยายอุปกรณ์เสริม หรือการอัพเกรดเครื่องก็ไปซื้อเองได้ ใช้งานได้เต็มคุณสมบัติ 100% ไม่ใช่ใช้ 10% ของความสามารถเครื่อง
ชี้ "โจทย์" นโยบายหาเสียงต่างยุค
ขณะที่เมื่อเทียบกับนโยบายการทำพีซีราคาประหยัดให้ประชาชนทั่วไปของพรรคเพื่อไทย หรือไทยรักไทยเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นายเอกรัศมิ์ มองว่า เป็นนโยบายที่ทำภายใต้โจทย์ที่แตกต่างกัน และมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า โจทย์ของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่ชัดเจน ซึ่งต้องรอจนกว่าจะมีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ รัฐจะต้องมองการสร้างประโยชน์ให้อุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งโลคอล และมัลติ เนชั่นแนลแบรนด์ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนนายวีระ มองว่า การผลิตคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อประชาชนที่ใช้แบรนด์ของรัฐ ผู้ประกอบการเอกชนไม่สามารถสร้างแบรนด์ตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นมาได้ แต่โครงการนี้รัฐต้องมองแง่กระตุ้นอุตสาหกรรมไอทีในประเทศได้ ด้วยการนำชิ้นส่วนมาประกอบเครื่อง สร้างอุตสาหกรรมในประเทศให้เข้มแข็ง และสร้างแบรนด์ แชมเปี้ยน โดยการให้เจ้าของแบรนด์ไปพัฒนาเครือข่าย บริการ และคอลล์เซ็นเตอร์
"รัฐบาลควรใช้โอกาสที่มีเสียงข้างมากเกินครึ่งพัฒนาประเทศ ซึ่งทำให้ความหวังที่จะแข่งขันกับสิงคโปร์กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่กลัวว่าจะต้องไปแข่งกับเวียดนาม"
ส่องเพื่อนบ้านเอเชีย ส่งเสริมแทบเล็ตนักเรียน โดย : วริยา คำชนะ, ปานฉัตร สินสุข
จากกระแสความแรงของไอแพดจากแอ๊ปเปิ้ล และแทบเล็ตแบรนด์อื่นๆ เริ่มได้รับความนิยม และถูกใช้เป็นเสมือนสมุดจดในบางโรงเรียนในประเทศแถบเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะว่าเด็กๆ สนใจกับการทดลองเล่นสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถใช้แทนสมุดจดของพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเทศที่พยายามรณรงค์การใช้กระดาษให้น้อยลง
รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า การใช้แทบเล็ตมีข้อดีในแง่การเป็นพอร์เทเบิล ดีไวซ์ ที่สามารถพกพาได้ง่าย เก็บหนังสือได้เป็น 1 พันเล่ม แทนที่จะต้องแบกตำราเรียน สมุดจด และเครื่องเขียนไปโรงเรียนทุกวันเหมือนแต่ก่อน
สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามสร้างระบบการศึกษาให้มีมาตรฐานระดับสูงทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้โรงเรียนต่างๆ ซื้อดีไวซ์เหล่านี้ได้ รวมไปถึงซอฟต์แวร์ และบริการที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้หลายโรงเรียนที่เริ่มทำโครงการต่างมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่พร้อมอยู่แล้ว เช่น บริการไวไฟภายใน ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตง่ายและไม่เป็นอุปสรรคเมื่อต้องใช้งาน
โรงเรียนมัธยมสตรีนันยาง แห่งสิงคโปร์ กำลังทดลองการใช้งานกับกลุ่มตัวอย่างที่มีนักเรียนมากกว่า 120 คน อาจารย์ 16 คน ด้วยงบประมาณที่มากกว่า 1 แสนดอลลาร์ และปี 2556 มีนโยบายว่านักเรียนทุกคนจะมีคนละ 1 เครื่อง และมีเรื่องที่ต้องทำประกอบกันไปคือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาโดยเฉพาะ
นายแซม ฮาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีในระบบการศึกษา ชาวสหรัฐ ให้ความเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของห้องเรียนเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง การเพิ่มขึ้นที่สอดคล้องกันกับวิถีชีวิตของคนในสังคม 
ญี่ปุ่น-เกาหลีตื่นตัว
รายงานข่าวกล่าวว่า ไม่นานมานี้รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น ได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า “ฟิวเจอร์ สคูล” โดยการมอบแทบเล็ตจำนวน 3 พันเครื่องให้แก่โรงเรียนประถมจำนวน 10 โรงเรียนที่นักเรียนอายุต่ำกว่า 12 ปี พร้อมกับจัดบรรยากาศห้องเรียนให้ล้ำสมัยเต็มรูปแบบ ด้วยการใช้กระดานดำแบบอินเทอร์แอ็คทีฟ
ในเกาหลีใต้ ซึ่งโรงเรียนมีไวไฟไว้บริการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ทดลองใช้ “ดิจิทัล เท็คบุ๊คส์” ในบางโรงเรียนตั้งแต่ปี 2550 และปี 2555 วางแผนไว้ว่าจะแจกจ่ายแทบเล็ตให้แก่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ
ดีแต่เป็นดาบสองคม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์บางคน ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้งานเทคโนโลยีย่อมมีด้านบวกและลบ มองในด้านลบนักเรียนบางคนติดการเล่นเกม หรือไม่ก็เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์อยู่ตลอดเวลา
“นายคิว ลิน” นักจิตวิทยาทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เตือนว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษาต้องระมัดระวัง สำคัญที่สุดต้องชัดเจนว่าจุดประสงค์ที่ต้องการนำมาใช้นั้นเพื่ออะไร
“เทรนด์การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานในระบบการศึกษาจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ทว่าหลังจากที่ใช้งานไปแล้ว ต้องพิจารณาในประเด็นที่สำคัญว่าสิ่งใดที่จะส่งผลดีต่อหลักสูตรและช่วยเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยผู้สอน ซึ่งสามารถพัฒนาความคิด และแก้ปัญหาในสิ่งที่นักเรียนต้องการได้อย่างแท้จริง”
เพื่อไทยแจกแทบเล็ต ป.1
มองมายังประเทศไทย นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไท กล่าวว่า นโยบายหลักด้านไอซีทีของพรรคเพื่อไทย คือ การผลักดันบรอดแบนด์ ไวร์เลส ให้ครอบคลุมทั่วถึงมากสุด ซึ่งเขาต้องการทำให้เสร็จภายในปี 2556 ครอบคลุมจำนวนประชากร 80% ของประเทศ เร็วกว่านโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่กำหนดให้ครอบคลุมปี 2557 โดยแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดการกระจายตัวความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้น จะจัดให้มีโครงการฟรีไว-ไฟ ในเขตเมือง สถานศึกษา สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ
อีกทั้ง ยังมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยทันสมัยมากขึ้น โดยจะใช้ศูนย์ไอซีทีชุมชน จัดฝึกอบรมให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถใช้อีเมลติดต่อสื่อสาร ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้ามาเช็คข้อมูลผลผลิต สภาพอากาศ และปัญหาภัยแล้ง เป็นการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร
ขณะเดียวกันศูนย์ไอซีทีชุมชน ยังทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านการตลาด และส่งเสริมให้เกิดทำอีคอมเมิร์ซในชุมชน ซึ่งแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นจะกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่นให้เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างศูนย์ไอซีทีชุมชนขึ้นมา เพื่อสร้างศูนย์ไอซีทีชุมชนให้เกิดอย่างรวดเร็ว ต่างจากปัจจุบันที่ส่วนกลางเป็นผู้จัดสร้างขึ้นมาในแต่ละชุมชน
นอกจากนี้ยังมีนโยบายใช้เทคโนโลยีไอซีที เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยจะปฏิรูปหลักสูตรให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และแจกแทบเล็ตพีซี ที่เป็นเหมือนอีบุ๊ค มาพร้อมโปรแกรมการเรียนการสอน หรือคอร์สแวร์ และสามารถใช้เครือข่ายไร้สาย ไวไฟฟรี โดยการลงทุนแจกแทบเล็ต ถือเป็นการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่คุ้มค่า เป็นการเพิ่มศักยภาพคนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ปี 2558
ทั้งนี้ การแจกแทบเล็ตพีซี ให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึง ปีที่ 6 ที่มีจำนวนนักเรียนทั่วประเทศ 10 ล้านคน ระยะเริ่มต้นจะโฟกัสชั้นประถมปีที่ 1 จำนวน 8 แสนคน ใช้วงเงินงบประมาณไม่เกิน 5,000 ล้านบาท หากคิดค่าใช้จ่ายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1.82 บาท
ที่มา :http://www.bangkokbiznews.com ไอที-นวัตกรรม วันที่ 1 ส.ค.54 11.16