วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ปรากฏการณ์ “สำลักดิจิตอล” เมื่อชีวิตเสพติด “FACEBOOK”


 “ลืมตาขึ้นมาเมื่อไหร่จะต้องคว้า BB  คอยเช็คเพื่อนๆว่าคุยอะไรกัน ซึ่งข้อความส่วนใหญ่จะไร้สาระ รถติด กินอาหารอะไรจะถ่ายรูปมาให้ดู ไปดูหนังฟังเพลง เล่นเกม และเรื่องผู้หญิง เรื่องเซ็กซ์ ส่วนเรื่องเรียนไม่ค่อยมีหรอก” ปรีชา นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ฉายภาพการ “อาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก” เครือข่ายสุดฮิตของตัวเอง 

หนุ่มน้อยรายนี้ กล่าวยอมรับอีกว่า เขามักพะวงอยู่กับการแชทกับเพื่อนๆ และเล่นเกม วันละหลายชั่วโมง มีโลกส่วนตัวจนกระทั่งลืมคนในครอบครัว ละเลยการทบทวนบทเรียน ทำให้ผลการเรียนตก กระทั่งถูกพ่อขู่ว่าเกรดเทอมนี้ออกมาไม่ดีจะยึด BB  โดยปรีชาระบุว่า ถ้าถูกยึดไปจริงๆ คงเหมือนขาดอะไรไปซักอย่างหนึ่ง เพราะแค่เคยลืม BBไว้ที่บ้านยังรู้สึกว่าขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ ทำให้เขาต้องปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ด้วยการแชตกับเพื่อนเฉพาะหลังจากทำการบ้านและอ่านหนังสือเสร็จแล้ว 


ด้านรศ.ดร.จุลนี เทียนไทย อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา “เฟซบุ๊ค:เครือข่ายชีวิตในยุคดิจิตอลเจนเนเรชั่น”  ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “เฟซบุ๊ก” เป็นโลกออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว แค่ปลายนิ้วคลิก “รับเป็นเพื่อน” ข้อความ คลิป และอื่นๆ จะแชร์ไปยังเพื่อนทุกคน
          
      
       “ขณะนี้ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีลงมา ร้อยละ 80 เล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะสังคมออนไลน์เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเว็บไซต์ สามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ เป็นเครื่องมือที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกและการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนผ่านทางการแสดงข้อคิดเห็นต่างๆ ขณะเดียวกันนักการเมือง หน่วยงานของรัฐและเอกชน ใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ และโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามหรือคู่แข่ง”
          
      
       รศ.ดร.จุลนี ยกตัวอย่างข้อดีของระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ ว่า อาจารย์สามารถใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับลูกศิษย์ สั่งการบ้าน รวมถึงติดตามการวิพากษ์วิจารณ์ของลูกศิษย์ที่เขียนระบายไว้ อีกทั้งยังทำให้เพื่อนที่ขาดการติดต่อกันหลายปีมาเจอกัน  นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งที่มากับเฟซบุ๊คเ  เช่น เกมสุดฮิตประเภทเกมสร้างฟาร์ม เกมบริหารร้านอาหาร  ที่มีส่วนช่วยปลูกฝังให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ 


“อย่างเกมร้านอาหาร ซึ่งผู้เล่นจะต้องเข้ามาเล่นเกมตามเวลา เพื่อไม่ให้อาหารไหม้ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผัก ผลไม้ กับเพื่อนที่เล่นเกมเดียวกัน จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เกมแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตามที อย่างไรก็ดี การเล่นเกมแบบสร้างสรรค์ดีกว่าเล่นเกมรุนแรง ซึ่งจะปลูกฝังพฤติกรรมก้าวร้าวโดยที่ผู้เล่นอาจไม่รู้ตัว”
          
      
       แต่สิ่งที่อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยารายนี้ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากกำลังกังวล คือ “ยาพิษ” ที่มาพร้อมๆ กับการเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายใยแมงมุมที่ถูกเรียกว่า “โลกไซเบอร์” อย่างCyber sex เปิดโอกาสและช่องทางให้บุตรหลายเข้าถึงเรื่องทางเพศมากขึ้น การเพิ่มช่องทางการรู้จักเพื่อนต่างเพศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาไปสู่เรื่องชู้
          
      
       “ เฟซบุ๊กจึงเปรียบเสมือนเป็นดาบสองคม มีทั้งส่วนดี และส่วนที่เป็นปัญหา ส่วนดีคือมีประโยชน์ในด้านการสื่อสาร มีความสะดวกสบายในการรับรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้รวดเร็วมากขึ้น  ในแง่ปัญหา มีการส่งข้อมูลที่เป็นเท็จ มีการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่นสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น หรือมีการแสดงความเห็นผ่านตัวหนังสือที่สะท้อนอารมณ์ ก่อให้เกิดการมีกิ๊ก มีคุณแม่วัยใส ก็อยากแนะนำผู้ที่เล่นเฟซบุ๊ก ว่า อยากให้ทุกคนควรใช้วิจารณญาณข้อมูลที่ส่งผ่านมาทางเฟซบุ๊ค เลือกรับสิ่งที่มีประโยชน์” รศ.ดร.จุลนี ทิ้งท้าย

ที่มา: manageronline