วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

จับตา "ไซเบอร์ วอร์" กระทบหลายมิติความมั่นคง


เสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญกับการเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์

สังคมทุกวันนี้ต้องทำใจยอมรับว่า คนหน้าเนื้อใจเสือที่ภายนอกทำเป็นดี หน้าตาเปื้อนยิ้ม แต่ข้างในแฝงความร้ายกาจเอาไว้มีอยู่จริง (จำนวนมาก) จึงไม่แปลกที่หน่วยงานทางการทหารของหลายประเทศเริ่มตื่นตัว และพยายามสร้างเกราะป้องกันตนเองไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้
หนึ่งในเกราะเหล่านั้น คือ การป้องกัน "การคุกคามทางไซเบอร์" ที่ไม่ว่าผู้ก่อการจะทำขึ้นเพื่อความสนุก หรือมีเจตนาร้ายเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายต้องมีใครสักคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องรับผลที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยตามแรงผลักที่ถูกส่งเข้ามา
นอกจากประเด็นความมั่นคงของประเทศ ที่ทำให้เกิดชนวนการพัฒนาระบบไอทีเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์หลังบ้าน ยังมีอีกหลายมิติที่เชื่อมโยงไปถึงการพิทักษ์สิทธิของมนุษย์ที่ไม่อาจหยั่งถึงได้หากมองเพียงผิวเผิน
วันนี้ มีเสียงสะท้อนจากบุคคลระดับผู้นำจากหลากหลายวงการที่เกี่ยวข้องมาชี้ให้เห็นว่า หนทางที่ประเทศไทยกำลังเดินไปมีสิ่งใดบ้างที่ต้องหยุด และหันกลับไปพินิจพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ
กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง  นายดล บุนนาค นักกฎหมายศาล ผู้พิพากษา และหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ให้ความเห็นว่า ในมุมของนักกฎหมาย ปัญหามาจากการตีความ เช่น พ.ร.บ.ที่ไม่อาจร่างออกมาให้ด้านเทคนิคและกฎหมายเกิดความสมดุลกันได้ ขณะที่หากประเทศเกิดล่มจม จะเริ่มต้นด้วยอะไร ระหว่างกระบวนการยุติธรรมหรือเศรษฐกิจ ถ้าภายในไม่แข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นจะเกิดได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การค้าจากต่างประเทศคงไม่เข้ามา สุดท้ายก็ไม่มีเงินที่ไหนไหลเข้าประเทศ
"ศาลยังเป็นพวกอนุรักษนิยมอยู่ ทุกวันนี้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยียังมีไม่มาก"
หัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา บอกว่า สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือคำพิพากษาที่ยังไม่ได้ประกาศ จำต้องเก็บเป็นความลับให้ดีที่สุด ปัจจุบันยังใช้วิธีการเขียนใส่กระดาษกันอยู่และจะทำเช่นนี้ต่อไปนอกเหนือจากความกังวลด้านความลับต่อคำพิพากษาซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจ ในส่วนงานอื่นๆ ที่เป็นแขน ขา ก็มีการใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ปิดกั้นทั้งหมด แทบทุกท่านก็มีโน้ตบุ๊คเป็นของส่วนตัว  
ยิ่งรู้ได้รวดเร็วยิ่งได้เปรียบ 
ในฐานะผู้ที่ตระหนักดีว่าข้อมูล คือ หัวใจสำคัญเพียงใด นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เสนอมุมมองว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องใหม่ เมื่อตัดสินใจร่างนโยบายเพื่อสร้างเกราะขึ้นมาป้องกันแล้ว ต้องมองให้ลึกถึงผลที่จะตามมาว่าทำได้จริงดังหวังหรือไม่
เธอมองว่า เรื่องนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาเซียนไอทีว่าควรใช้วิธีการใด ผู้ใดที่ได้ศึกษาข้อมูลคือผู้ชนะ ใครยิ่งรู้เร็วยิ่งได้เปรียบ ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นประตูหน้ามักแข็งแรง แต่ข้างหลังเข้าออกได้สบาย
"หัวใจสำคัญประกอบด้วยการรักษาความลับ ความถูกต้องครบถ้วน และความพร้อมที่จะดึงข้อมูลออกมาใช้ ปัจจัยสำคัญต้องมีทั้งด้านเทคโนโลยีที่ครอบคลุม ระบบอินฟราสตรัคเจอร์ กระบวนการที่ให้ความสำคัญกับกฎหมาย นโยบายระเบียบแนวปฏิบัติและมาตรฐาน สุดท้าย คือ บุคลากรที่ต้องทำงานแบบเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน กรมใครกรมมัน"
 ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาดูด้วยตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจเกิดอะไรขึ้นมาได้ ประเทศไทยมีกฎหมายออกมาตลอดเวลา แต่ไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ
ทุกคนต้องมีจิตสำนึกร่วมกัน นายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) มีแนวคิดว่าการรักษาความมั่นคงต้องเกิดตั้งแต่การควบคุมจากภายในด้วยธรรมาภิบาล โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ  ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประโยชน์ให้กับองค์กร
"ถ้าจะทำลายคู่แข่งต้องทำแบบสร้างสรรค์ คิดหาวิธีการที่เหมาะกับตัวเอง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เสริมความได้เปรียบการแข่งขัน และสำคัญที่สุด คือ ต้องทำให้คนภายในมีจิตสำนึกร่วมกัน"  
ส่วน นายศุภกิจ รัตถิวัลย์ จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานที่ทำมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เมื่อโยงไปด้านกลาโหม ขอบเขตจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้ ยอมรับว่าระบบไอทียังไม่พร้อม อาจเกิดความเสี่ยงได้รอบด้าน ต้องหาแนวทางอุดช่องโหว่ให้ได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานได้เริ่มเดินหน้าร่างโรดแมพจัดทำโครงการต่างๆ ให้เกิดการเชื่อมโยง แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันจากทั้งหน่วยงานภายในและนอกประเทศ รวมถึงตรวจสอบว่า ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายต่างๆ รองรับเหตุการณ์ได้ทุกมิติหรือไม่ 


ที่มา:  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ไอที-นวัตกรรม วันที่ 19 กันยายน 2554