วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไอซีที แถลง!! มือแฮกทวิตเตอร์นายก อยู่ในไทย เจาะรหัสผ่านมือถือ


เมื่อเวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวถึงกรณีแฮกเกอร์แฮกข้อมูลทวิตเตอร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 10.43 น.ของวันที่ (2 ต.ค.) ว่า
แฮกเกอร์ลักลอบใช้บัญชีทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความ 8 ข้อความ ซึ่งการลักลอบใช้ทวิตเตอร์เสมือนเป็นการแฮก ซึ่งมีความผิดหลายประการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในมาตรา 5, 7, 8 และ 14 ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ที่รู้บัญชีอีเมล์และรหัสผ่านของนายกรัฐมนตรีมี 2 คนเท่านั้น คือนายกรัฐมนตรีและทีมงานอีก 1 คนเท่านั้น
โดยขณะนี้กระทรวงฯ ได้เพียงเบาะแสเพิ่มเติมของผู้เจาะรหัสผ่านเข้าไปเขียนข้อความในทวิตเตอร์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถที่จะจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้ได้ประสานข้อมูลไปที่บริษัทผู้ให้บริการแล้ว เพื่อขอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม เบื้องต้นมีข้อมูลว่า ผู้เจาะรหัสและโพสต์ข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
“การที่ผู้ใดจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต้องยอมรับเงื่อนไขและลงทะเบียนเข้าใช้ ซึ่งผู้ดูแลระบบคือผู้ที่ให้บริการ ซึ่งมีลักษณะการใช้เหมือนโทรศัพท์มือถือเหมือนกัน ซึ่งถ้าทำเบอร์หล่นหายก็อาจถูกนำเบอร์ไปใช้เช่นกัน” รมว.ไอซีที
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีจะได้แจกคู่มือการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ปลอดภัยเผยแพร่ให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้งานมากยิ่งขึ้น ส่วนการแฮกทวิตเตอร์ของผู้มีชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยถูกแฮกข้อมูล ซึ่งวันนี้ (3 ต.ค.) อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การใช้ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องระวังตัว ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีต้องเห็นใจกัน และช่วยกันประณามการกระทำดังกล่าว
“วันนี้ไอซีทีได้รับเบาะแสผู้กระทำความผิดแล้ว แต่ต้องรวบรวมข้อมูลให้แน่นหนาก่อนที่จะจับกุม ส่วนประชาชนที่โดนเหตุการณ์อย่างนายกรัฐมนตรีสามารถแจ้งมาที่ไอซีทีได้”
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า หากเห็นการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นกับใคร ขอเตือนไม่ให้ส่งต่อข้อมูลเพราะเข้าข่ายกระทำความผิดร่วมกัน
“ทวิตเตอร์ที่ถูกแฮกนี้เป็นทวิตเตอร์ที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีทีมงานร่วมทำงานด้วย การที่จะวิเคราะห์ว่าใครกระทำต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดและตำรวจต้องติดตามเบาะแส ส่วนเมื่อไรจะได้ตัวผู้กระทำความผิด ขณะนี้ทั้งกระทรวงฯ และตำรวจได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์แล้ว” รมว.ไอซีที
“ผมเข้าใจว่าคนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กใช้เพื่อการสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องที่เป็นทางการ ซึ่งเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน ตั้งแต่ลงทะเบียนใช้งาน ผู้ให้บริการได้แจ้งถึงระดับความปลอดภัยไว้แล้ว ซึ่งการที่ผู้ประสงค์ไม่ดีเข้ามาแฮกทวิตเตอร์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ซึ่งเป็นการแสดงออกโดยวิธีนี้” รมว.ไอซีทีกล่าว
รมว.ไอซีที กล่าวว่า กรณีการถูกแฮกข้อมูลทางทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นทราบว่าถูกแฮกจากอีเมล์ก่อนเข้าแฮกทวิตเตอร์ สำหรับการกระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 5, 7, 9 และ 14 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ส่วนเว็บหมิ่นฯ กระทรวงไอซีทีมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดประสานผู้ให้บริการระบบต่างๆ เช่น แบล็กเบอร์รี่ เพื่อให้มาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในเมืองไทย
สำหรับขณะนี้นายกฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านโชเซียลเน็ตเวิร์กผ่านที่ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก Y.shinawatra

ที่มา: ขอบคุณข้อมูลจาก ทีวีไทย