วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ร่างพรบ.คอมพ์คลุมเครือ-ละเมิดสิทธิ



หลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 บังคับใช้ได้เพียง 3 ปีเศษ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า กฎหมายฉบับนี้มีความคลุมเครือยากต่อการตีความ เกิดช่องโหว่ในการบังคับใช้ อีกทั้งยังถูกมองว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จึงดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้แทนฉบับเก่า แต่ยังไม่ทันนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็เกิดการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วนเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ซ้ำอีก


ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากอาจารย์ด้านกฎหมายและผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเสนอแนะปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งยกร่างโดยกระทรวงไอซีที และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ในสังกัดกระทรวงไอซีที ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมรับฟัง
    
น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า หลักการทั่วไปและโครงสร้างฐานความผิดต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ไม่แตกต่างจากฉบับปี พ.ศ.2550 คือมุ่งเน้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด แต่ไม่มีการบัญญัติในประเด็นที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้เลย อีกทั้งการบัญญัตินิยามคำศัพท์ก็เป็นไปอย่างกว้างๆ ยากต่อการตีความซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมาย เช่น "ระบอบคอมพิวเตอร์" ควรระบุให้ชัดว่า เฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลในงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น คำว่า "ผู้ให้บริการ" ควรเจาะจงเฉพาะผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ไม่ควรรวมถึงผู้ให้บริการด้านเทคนิค
    
"การบัญญัติคำไว้กว้างๆ จะมีผลต่อการตีความ เช่นในมาตรา 17 ว่าด้วยการกระทำความผิดด้วยการเปิดเผยมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ซึ่งเจตนาต้องการเอาผิดแฮ็กเกอร์ที่เจาะฐานข้อมูลผู้อื่นแล้วนำไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่เมื่อไม่ระบุให้ชัด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ ที่จำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีความผิดตามกฎหมายไปด้วย" อาจารย์สาวตรีกล่าว
    
อาจารย์ด้านนิติศาสตร์รายนี้กล่าวด้วยว่า ในมาตรา 22 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กำหนดความผิดของการส่งอีเมลไม่พึงประสงค์ (spam) ไว้เฉพาะที่เป็นประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น ทั้งที่ควรควบคุมถึงสแปมเมลที่เผยแพร่ไวรัส โปรมแกรมสอดแนม อีเมลขอรับบริจาค อีเมลหลอกโอนเงิน หรือพวกโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งสแปมเมลเหล่านี้ไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น 
    
ในมาตรา 25 กำหนดโทษผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ลักษณะลามกที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไว้สูงคือจำคุกไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อาจารย์สาวตรีมองว่า ยังคงคลุมเครือเพราะไม่ระบุให้ชัดว่า "ลักษณะลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน" หมายความว่าอย่างไร อีกทั้งในข้อหานี้เจตนาเอาผิดผู้บริโภค ซึ่งอาจเกิดความไม่เป็นธรรม เพราะการใช้คอมพิวเตอร์แต่ละครั้งอาจมีไฟล์ภาพลามกดาวน์โหลดอัตโนมัติเข้าในคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้งานไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับต้องถูกดำเนินคดี ในรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ผู้ร่างกฎหมายจะต้องคิดให้รอบคอบ
    
ขณะที่นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิป ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ควรมุ่งเน้นปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง ไม่ควรครอบคลุมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ การหมิ่นประมาท และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะความผิดลักษณะนี้มีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว หากร่างกฎหมายให้ครอบคลุมอีกอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้ เช่นเดียวกับการเอาผิดกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตควรระบุให้ชัดว่าหากเกิดการกระทำผิดตามกฎหมายแล้วใครจะต้องถูกดำเนินคดีบ้าง
    
"ยกตัวอย่างผมเปิดเว็บไซต์แล้วมีเว็บบอร์ดไว้ให้สมาชิกโพสต์ข้อความ แต่มีสมาชิกโพสต์ภาพลามก กฎหมายระบุว่าผู้ให้บริการมีความผิดด้วย แล้วใครต้องรับโทษบ้าง เพราะผู้ให้บริการมีหลายระดับ ตั้งแต่เจ้าของบอร์ด เจ้าของเว็บไซต์ เจ้าของเซฟเวอร์ เจ้าของโฮลดิ้ง และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งระบบ โดยส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายควรระบุให้ชัดว่าผู้ที่ต้องรับผิดมีใครบ้าง" นายวันฉัตรแสดงความคิดเห็น
    
สอดคล้องกับนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่กระทรวงไอซีทีดำเนินการอยู่ในขณะนี้ยังมีข้อบกพร่องในหลายประการ โดยเฉพาะในมาตรา 6 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นมารองรับการบังคับใช้กฎหมาย สัดส่วนคณะกรรมการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสีย 13 คน จาก 16 คน และส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง และผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีตัวแทนภาคประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตรวมอยู่ด้วยแม้แต่คนเดียว 
    
"คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแสดงให้เห็นว่า เจตนาควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต มากกว่าส่งเสริมพัฒนาการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจเข้าข่ายจำกัดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นายชวรงค์แสดงความเห็น 
        
เช่นเดียวกับนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ยังคงรวมเอาความผิดเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องความมั่นคงมาบัญญัติไว้ในข้อกฎหมาย แทนที่จะมุ่งป้องกันปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง ซึ่งเห็นว่าหากไม่สามารถตัดฐานความผิดเหล่านี้ออกได้ ควรจะออกกฎหมายลูกเรียกว่า ป.วิอาญาอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมารองรับเพื่อง่ายต่อการตีความ
    
ขณะที่นางสุรางคณายอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ยังสามารถปรับแก้ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะตระเวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศไปอีกระยะเพื่อปรับแก้ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด หลังจากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป



** องค์การความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต มีความเห็นว่า พรบ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยของโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี หากแต่ต้องมีการบังคับใช้ให้จริงจรังโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และการหาความร่วมมือจากหลายภาคส่วนให้ร่วมมือกันทำการประชาสัมพันธ์ในตัวบทกฎหมายให้ออกไปสู่สาธารณชนมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสืบสวน สอบสวน จำเป็นต้องเป็นทราบ รู้อย่างถ่องแท้ และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยอมรับว่ายังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องตัวเนื้อหาและฐานความผิดตามมาตราต่าง ๆ ที่ยังต้องระบุความชัดเจนให้มากกว่านี้ เพื่อลดความคลุมเครือ สับสน แก่ผู้ปฎิบัติตามกฎหมายครับ**


ที่มา: http://www.komchadluek.net